คำว่า ให้ร่าเริง
คำว่า “ให้ร่าเริง” คือ ให้ผ่องใส ให้รุ่งเรือง ด้วยคุณที่ตนแทงตลอดแล้ว
ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังมีลักษณะของสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงบ้างหรือยัง แต่ให้ทราบความหมายว่า ท่านสามารถที่จะร่าเริงได้ในขณะที่กุศลจิตเกิด เพราะว่าบางท่านเป็นทุกข์เพราะอกุศล เป็นห่วงเป็นกังวลขณะใด ขณะนั้นก็เป็นอกุศล บางท่านก็ห่วงว่า อายุมากแล้ว สติปัฏฐานก็ยังเกิดน้อยเหลือเกิน เพราะฉะนั้นก็เป็นห่วงจริงๆ ว่าจะไม่ทัน เพราะเหตุว่ามีอายุมากแล้ว ขณะนั้นเป็นอกุศล
พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงธรรมให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมีอกุศลมากๆ หรือว่าเป็นห่วงมากๆ แต่ทรงแสดงธรรมเพื่อให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง อกุศลทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ยับยั้งไม่ได้ ในเมื่ออกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดจะเกิดขึ้น หรือว่าเกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดแล้ว แต่ร่าเริงได้ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของอกุศลที่กำลังปรากฏ ไม่ให้อกุศลที่เกิดขึ้นเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ว่าให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แม้เป็นอกุศล เพื่อที่จะได้รู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนและถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของอกุศลที่กำลังมี กำลังปรากฏ จะเห็นได้ชัดจริงๆว่า ขณะที่สติกำลังระลึกรู้นั้น ไม่เศร้าหมองเลย เพราะเหตุว่าไม่กังวลเดือดร้อน ที่จะถือเอาอกุศลนั้นเป็นตัวตน หรือว่าเป็นเรา
หนทางเดียวที่จะละ จะคลาย จะบรรเทา จะดับอกุศลที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยได้ เพราะสติระลึกรู้ ไม่ให้อกุศลที่เกิดปรากฏเสียไปเปล่าๆ โดยเพิ่มความเป็นห่วงกังวลขึ้น แต่โดยการที่สติระลึกและสามารถที่จะรู้ว่า ลักษณะสภาพธรรมที่เป็นอกุศลประการต่างๆ ลักษณะต่างๆนั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้นถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะถึงคำว่า “ให้ร่าเริง” คือ ให้ผ่องใสและให้รุ่งเรืองด้วยคุณที่ตนแทงตลอดแล้ว คือ สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน