สภาวลักษณะของจิต


    สำหรับสภาวะลักษณะของจิต ซึ่งท่านผู้ฟังก็ได้ทราบแล้วว่า ลักษณะของธรรมมี ๒ ประการ คือ สามัญลักษณะ อย่างหนึ่ง และสภาวะลักษณะ อีกอย่างหนึ่ง

    ก่อนที่จะได้กล่าวถึงจิตประเภทต่างๆ ก็จะได้ประมวลสรุปลักษณะ ซึ่งเป็นสภาวะลักษณะของจิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นจิตที่เป็นกามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต หรือโลกุตตรจิต โดยประเภทของภูมิต่างๆ หรือว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต โดยชาติ ก็ตาม ประมวลสรุปลักษณะของจิตทุกประเภทแล้ว สภาวะลักษณะของจิต ก็คือ

    อารมฺมณ วิชานนลกฺขณํ มีการรู้แจ้งอารมณ์ เป็นลักษณะ

    ปุพฺพํคมรสํมีการถึงก่อน คือ มีความเป็นหัวหน้าเป็นประธานในการรู้อารมณ์ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    สนฺธาน ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการสืบเนื่องกัน คือ เกิดดับสืบต่อกัน เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

    นามรูปปทฏฺฐานํ มีนามธรรมและรูปธรรมเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    แสดงให้เห็นว่า จิตเป็นสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นเองตามลำพังลอยๆไม่ได้ เพราะฉะนั้นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตย่อมอาศัยนามธรรมและรูปธรรมเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    สำหรับในภูมิซึ่งมีแต่นามธรรม เช่น อรูปพรหม ไม่มีรูปเลย เพราะฉะนั้นในภูมินั้น จิตก็ต้องอาศัยเพียงเจตสิก คือ นามธรรมเท่านั้น เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด


    หมายเลข 7629
    22 ส.ค. 2558