ลักษณะของอกุศล ตรงข้ามกับ ลักษณะของกุศล


    สำหรับลักษณะของอกุศล ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีว่า

    “อกุศล” มีวิบากเป็นทุกข์ มีโทษเป็นลักษณะ

    ซึ่งเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับลักษณะของกุศล

    สำหรับลักษณะของกุศลธรรมมี ๒ นัย คือ

    “กุศล” มีสุขวิบาก อันไม่มีโทษ เป็นลักษณะ มีอันกำจัดอกุศล เป็นรสะ คือ เป็นกิจ มีความผ่องแผ้ว เป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการปรากฏ มีโยนิโสมนสิการ เป็นปทัฏฐาน โดยนัยหนึ่ง

    อีกนัยหนึ่ง หรืออีกอย่างหนึ่ง

    “กุศล” ชื่อว่า ความไม่มีโทษ เป็นลักษณะ มีภาวะผ่องแผ้ว เป็นรสะ มีวิบากที่น่าปรารถนา เป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการปรากฏ มีโยนิโสมนสิการ หรือความไม่มีโทษ เป็นปทัฏฐาน

    ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้นะคะว่า แล้วแต่ความสามารถ หรือแล้วแต่การสะสมของผู้ที่จะพิจารณา เพื่อที่จะรู้ลักษณะของธรรมที่เป็นกุศลว่า ท่านระลึกถึงลักษณะใด เช่น ลักษณะของกุศลนัยที่หนึ่ง ที่ว่า มีสุขวิบาก อันไม่มีโทษ เป็นลักษณะ

    เวลาที่ได้รับผลของกุศล ขณะนั้นก็เป็นความสะดวกสบาย ความสุข ไม่มีความเดือดร้อนใจ พอที่จะรู้ว่า กุศลแล้วก็ย่อมจะมีลักษณะที่มีสุขวิบาก คือ ให้ผลเป็นสุข

    เคยพิจารณาที่จะรู้ลักษณะของกุศลไหมคะ ขณะใดที่สะดวกสบาย เป็นสุข ไม่เดือดร้อน ขณะนั้นก็ทราบได้ว่า เป็นผล คือ ลักษณะของกุศล ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ให้ผลเป็นสุขวิบาก คือ วิบากที่เป็นสุข นั่นเป็นลักษณะของกุศล

    มีอันกำจัดอกุศล เป็นรสะ เป็นกิจ

    ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นย่อมกำจัดอกุศล เช่น เวลาที่เกิดโกรธขึ้นมา เป็นอกุศล แต่พอเปลี่ยนจากโกรธเป็นความเมตตา เพราะระลึกได้ว่า ความโกรธเป็นอกุศล ให้โทษ เป็นศัตรูผู้ทำร้ายจิต เป็นศัตรูที่ใกล้ชิดที่สุด คือ ไม่ใช่ศัตรูภายนอก แต่เป็นศัตรูภายใน และเมื่อรู้อย่างนี้ก็เกิดเมตตา แทนที่จะเกิดโทสะ หรือปฏิฆะขึ้น ขณะนั้นก็กำจัดอกุศล เวลาที่กุศลเกิดไม่ว่าจะเป็นทาน ก็กำจัดอกุศล คือ ความตระหนี่เวลาที่กุศลจิตเกิดเป็นศีล ขณะนั้นก็กำจัดอกุศล คือ การเบียดเบียนประทุษร้าย เพราะฉะนั้นธรรมชาติของกุศล มีรสะ คือ มีกิจที่กำจัดอกุศล

    มีความผ่องแผ้ว เป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการปรากฏ

    ถ้าจะสังเกตลักษณะของจิต ในขณะที่เป็นกุศล จะทราบได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่สะอาด หรือว่าผ่องแผ้ว ปราศจากเดือดร้อนใจ หรือว่าปราศจากความเศร้าหมอง ด้วยโลภะ หรือด้วยโทสะ หรือโมหะ ในขณะนั้นก็มีความผ่องแผ้ว เป็นอาการปรากฏ

    แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงและประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จึงสามารถพิจารณาเห็นความผ่องแผ้ว ซึ่งเป็นอาการปรากฏของกุศลจิต เพราะว่าบางท่านพอเกิดสบายใจ ก็เข้าใจว่าผ่องแผ้ว แต่ว่าลักษณะที่สบายใจ ไม่ใช่กุศล เป็นอกุศล เป็นโลภะ เป็นความพอใจ ไม่ใช่ความผ่องแผ้ว แต่ถ้าเป็นความผ่องแผ้วแล้ว เป็นสภาพที่ปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ปราศจากอิสสา ปราศจากมานะ ขณะใด ขณะนั้นจึงเป็นสภาพของจิตที่ผ่องแผ้ว เพราะปราศจากอกุศล อย่าถือความสบายใจ หรือความพอใจ เป็นความผ่องแผ้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จึงจะสามารถเห็นอาการที่ปรากฏของกุศลธรรมได้

    มีโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยแยบคาย เป็นปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิด

    นี่คือสภาพธรรมที่เป็นกุศลนะคะ เพราะฉะนั้นธรรมที่เป็นอกุศลก็ตรงกันข้าม คือ มีวิบาก เป็นทุกข์ มีโทษ เป็นลักษณะ


    หมายเลข 7678
    22 ส.ค. 2558