เหตุให้เกิดกุศล ด้วยสามารถที่กำหนดคือพิจารณาได้
ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ แสดงเหตุให้เกิดกุศล ๔ ประการ คือ
ด้วยสามารถที่กำหนด คือ พิจารณาได้ ๑ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน ๑ ด้วยสามารถแห่งการประพฤติเสมอ ๑ ด้วยสามารถแห่งการผูกใจไว้ ๑
ก็ต้องอธิบายอีกเหมือนกันนะคะ มิฉะนั้นแล้วก็คงจะไม่เข้าใจว่า ด้วยสามารถที่กำหนดได้ คืออย่างไรด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน คืออย่างไร ด้วยสามารถแห่งการประพฤติเสมอ คืออย่างไร ด้วยสามารถแห่งการผูกใจไว้ คืออย่างไร
ชีวิตประจำวันจริงๆนี้ ทุกท่านอยากประสบกับอารมณ์ที่ดีๆ ทั้งนั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ใช่ไหมคะ ขณะนั้นที่อยากประสบกับอารมณ์ที่ดีๆ ทางตา ทางหู ทาง จมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะที่ต้องการ ขณะที่ปรารถนาอารมณ์ที่ดีๆ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นอกุศล ตอนหนึ่งแล้วนะคะ ขณะที่ปรารถนาหรือต้องการ แล้วเวลาเห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ได้ลิ้มรสที่ดี ได้กระทบสัมผัสสิ่งที่ดี ส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน เป็นกุศลหรืออกุศลคะ เป็นอกุศลอีก ก่อนที่จะได้ก็เป็นอกุศล และทันทีที่เห็นสิ่งที่ดีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เป็นอกุศลอีก เพราะฉะนั้นการที่กุศลจิตจะเกิดได้ แม้ว่ากระทบกับอารมณ์ที่ดี ก็ต้องมีเหตุใช่ไหมคะ นี่เป็นเหตุที่บางคนสะสมมาที่จะเป็นกุศล แม้ว่าจะกระทบกับอารมณ์ที่ดี ก็ไม่เป็นอกุศล และบางคนทั้งๆที่กระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดีเท่าไร เป็นอารมณ์ที่ปานกลาง แต่ก็มีการติดในอารมณ์นั้นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีความติดในอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่สามารถที่จะให้กุศลจิตเกิดได้ อุปมาเหมือนกับนกเล็กๆซึ่งผูกไว้ด้วยเชือกเล็กๆ ก็ยังไม่สามารถจะสลัดสะบัดออกไปให้หลุดจากเชือกที่ผูกได้ ทั้งๆที่เป็นของที่เล็กน้อยเหลือเกิน แต่เมื่อสะสมมาที่จะถูกผูกไว้ ที่จะมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะแม้ในอารมณ์ที่ดีปานกลาง คือ ไม่ดีมาก ก็ยังไม่สามารถที่กุศลจิตจะเกิดได้ แต่สำหรับผู้ที่สะสมมาที่จะมีกุศลที่มีกำลัง แม้ว่าจะพรั่งพร้อมไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดี กุศลจิตก็สามารถที่จะเกิดได้ เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดกุศล เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่น่าพอใจต่างๆ มี ๔ ประการ คือ
๑. ด้วยสามารถที่กำหนด คือ พิจารณาได้
หมายความว่า เป็นผู้ที่นิยมยินดีในกุศล เพราะพิจารณาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ควรเจริญ เพราะว่าบางท่านไม่ได้เห็นความดี ไม่ได้เห็นคุณของกุศลเลย ใช่ไหมคะ อกุศลดีกว่า ใช่ไหมคะ ต้องหามามากๆ เพื่อตัวเอง เรื่องอะไรที่จะสละให้บุคคลอื่น นั่นคือผู้ที่ไม่ได้พิจารณา หรือไม่มีความนิยม ไม่เห็นคุณของกุศล เพราะฉะนั้นก็คิดว่า อกุศลเป็นสิ่งที่ควรจะมีมากๆ แทนที่จะเป็นผู้ที่นิยมยินดีในกุศล เพราะเห็นว่ากุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญ
เพราะฉะนั้นทุกท่านในชีวิตประจำวันก็ต้องเริ่มจากการพิจารณาจริงๆว่า กุศลและอกุศล สิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรเจริญให้มากขึ้น แม้ว่าอาจจะยังไม่มีมาก หรือว่าอาจจะยังทำไม่ได้ทันที แต่เพียงน้อมพิจารณาที่จะมีเหตุผลถูกต้องตามความเป็นจริงว่า กุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญ เป็นสิ่งที่ควรจะอบรมประพฤติให้มากขึ้น
นี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งจะทำให้กุศลจิตเกิดได้ คือ เป็นผู้ที่นิยมและเห็นว่า กุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญ