อรรถสาลิณี นิกเขปกัณฑ์ -- ลักษณะของโลภะ


    ซึ่งขอกล่าวถึงอัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ เพื่อจะได้ทราบว่า ลักษณะขอองโลภะ เป็นอย่างไรในชีวิตประจำวัน

    ชื่อว่า “ความกำหนัด” เนื่องด้วยความยินดี

    นี่ก็พอที่จะเข้าใจได้ ขณะไหนที่รู้สึกยินดี หรือพอใจ ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของโลภะซึ่งปรากฏให้เห็นว่าเป็นโลภะ

    ชื่อว่า “ความกำหนัดนัก” โดยความหมายว่า ยินดีรุนแรง

    อันนี้ทุกท่านก็ย่อมทราบได้ เวลาที่เกิดดีใจอย่างมาก ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของความกำหนัดนัก

    ชื่อว่า “ความคล้อยตามอารมณ์” เพราะยังสัตว์ทั้งหลายให้คล้อยตามไปในอารมณ์ทั้งหลาย

    นี่เป็นสิ่งที่ควรจะสังเกตและทราบได้ว่า ไม่ว่าท่านจะเห็นอะไร ไม่ได้ทิ้งสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย ถ้าเห็นต้นไม้ ก็นึกถึงเรื่องต้นไม้นั้น ถ้าเห็นดอกไม้ ก็นึกถึงเรื่องดอกไม้นั้น ถ้าเห็นเสื้อผ้า ก็นึกถึงเรื่องเสื้อผ้านั้น ถ้าเห็นอาหาร ก็นึกถึงเรื่องอาหารนั้น ถ้าได้กลิ่นอะไร ก็นึกถึงเรื่องของกลิ่นนั้น ถ้าได้ยินเสียงอะไร ก็นึกถึงเรื่องของเสียงนั้น ไม่ว่าอะไรจะกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตที่คล้อยตามไปในสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต

    เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ ไม่มีทางที่จะยับยั้งโลภมูลจิตได้ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ขณะนี้กำลังคล้อยตามอารมณ์ที่ปรากฏหรือเปล่า คล้อยไปแล้ว ไม่ทันจะรู้ตัวเลย แล้วสติปัฏฐานจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ อย่าลืมนะคะ ไม่มีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดที่เจาะจงจะรู้ แม้แต่ลักษณะของโลภะ ซึ่งทราบว่า ในขณะนี้ ขณะใดซึ่งสติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นคล้อยตามอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้นเมื่อลักษณะของโลภะขั้นนี้ไม่ปรากฏ การที่สติปัฏฐานจะระลึกรู้ลักษณะของโลภะขั้นนี้ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นทั้งๆที่รู้ว่า โลภะเกิดแล้ว คล้อยตามอารมณ์ที่ปรากฏแล้วขณะที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้นขณะที่มีสติ ไม่ใช่พยายามจะไปจับโลภะที่คล้อยตามอารมณ์ เพราะเหตุว่าลักษณะของโลภะที่คล้อยตามอารมณ์นั้นไม่ปรากฏ แต่ลักษณะของอารมณ์กำลังปรากฏ ทางตามีสิ่งซึ่งกำลังปรากฏ ทางหู ดังกำลังปรากฏ ทางจมูก ถ้ามีกลิ่นปรากฏ ทางลิ้น รสปรากฏ ทางกาย เย็น ร้อน หรืออ่อน แข็ง หรือตึง ไหว ปรากฏ ไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องโลภะซึ่งคล้อยตามไป แต่ว่าขณะใดที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วศึกษาที่จะรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นการอบรมเจริญปัญญา จนกว่าลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆจะปรากฏให้รู้ เมื่อลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆปรากฏให้รู้ ก็จะต้องศึกษารู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนรู้ในลักษณะสภาพที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมของสภาพธรรมนั้นๆ ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะคมกล้า


    หมายเลข 7708
    22 ส.ค. 2558