ทางมโน อะไรกระทบกับอะไร จึงคิดขึ้นได้
ผู้ฟัง จักขุปสาทกระทบกับสีวัณณะ ก็เกิดเป็นจิตขึ้น เรียกว่าจักขุทวาราวัชชนจิต ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิตแรก
ผู้ฟัง แต่เมื่อถึงมโน ไม่รู้ว่า อะไรกระทบอะไร จึงเกิดความคิดขึ้นได้
ท่านอาจารย์ สำหรับทางใจ ไม่ใช่รูปแน่นอน เพราะฉะนั้นการสะสม เวลาที่เราจะคิด เราก็จะคิดถึงเรื่องที่เราเคยพบ เคยได้ยินทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เรื่องราวต่างๆ ก็ได้ ก็เป็นอารมณ์ของใจซึ่งสะสมสืบต่อเป็นปัจจัยทำให้ภวังคจิตไหว และภวังคุปัจเฉทะดับไป มโนทวาราวัชชนจิตก็มีสิ่งนั้นเองเป็นอารมณ์ กุศลจิต และ อกุศลจิตก็มีอารมณ์เดียวกันกับมโนทวาราวัชชนะ
ผู้ฟัง จิตที่เป็นมโนทวาราวัชชนจิตเป็นคนละจิตกับที่เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง เพราะว่าเกิดจากหทยวัตถุ
ท่านอาจารย์ เกิดที่หทยวัตถุ ปัญจทวาราวัชชนะก็เกิดที่หทยวัตถุ แต่ปัญจทวาราวัชชนะอาศัยทวารที่เป็นรูป แต่มโนทวารไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กายที่เป็นรูป
ผู้ฟัง จะใช้การอธิบายว่าอายตนะภายในภายนอกเหมือนกับปัญจทวาราวชชันจิตได้ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงอายตนะ ภายในต้องทราบว่าจักขุปสาทเป็นอายตนะ เรียกว่า จักขายตนะ ๑ ในบรรดารูปทั้งหมดที่ตัว รูปที่จะเป็นปสาทหรืออายตนะที่จะกระทบกับรูปที่กระทบได้ก็มีเพียง ๕ รูปเป็นรูปภายใน รูปอื่นไม่ใช่รูปภายใน แม้แต่มหาภูตรูปซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานก็ไม่ใช่ปสาทรูป ไม่ใช่อายตนะด้วย เพราะฉะนั้นขณะใดที่จักขุปสาทเป็นจักขายตนะก็เพราะกระทบกับรูปารมณ์ สำหรับทางมโนทวาร จิตทุกประเภทเป็นมนายตนะ
ผู้ฟัง ทางมโนทวารจะใช้คำว่ากระทบอะไรได้ไหม
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ จิตจึงเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เป็นอายตนะซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นธัมมายตนะ คือถ้ากล่าวถึงอายตนะก็หมายความว่าขณะนั้นมีสภาพธรรมอะไรที่ประชุมอยู่ที่นั่นที่จะทำให้สภาพนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไปสืบต่อไปได้
ผู้ฟัง เมื่อมาถึงทางมโน
ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีจิตกับเจตสิก จิตก็เป็นมนายตนะ เจตสิกก็เป็นธัมมายตนะ
ผู้ฟัง มีความต่างกับปัญจทวาร อย่างไร
ท่านอาจารย์ ปัญจทวารก็มีจักขายตนะ รูปายตนะ ภายใน ๖ ภายนอก ๖ กล่าวถึงสภาพที่มีอยู่ในขณะนั้น ที่สภาพธรรมนั้นๆ ปรากฏได้ ถ้ามีจิต ไม่มีเจตสิก เป็นไปไม่ได้เลยใช่ไหม เพราะฉะนั้นขณะที่มีจิตต้องมีเจตสิกอยู่ด้วย ประชุมด้วย อยู่ตรงนั้นด้วย
ผู้ฟัง แม้แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ต้องมีเจตสิกอยู่ด้วย
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เป็นมนายตนะ จิตทุกประเภทเป็นที่ต่อของเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ต้องมีอยู่ที่นั่นในขณะนั้น ทั้งจิต และเจตสิกก็เป็นสัมปยุตตธรรม หมายความว่าแยกกันไม่ได้เลย ต้องเกิดร่วมกันโดยภาวะที่ต่างก็เป็นสัมปยุตตปัจจัย แต่เมื่อกล่าวถึงโลภมูลจิตประเภทที่ ๑ คือเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ภาษาบาลีก็จะใช้คำว่า “โสมนัสสสหคตัง” และก็มีคำว่า “ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง” แม้ว่ามีเจตสิกอื่นๆ เป็นสัมปยุตตธรรม แต่ขณะนั้นก็มีทิฏฐิเจตสิกเป็นสัมปยุตตธรรมด้วย คือเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ก็เป็นเพียงแต่ว่าแสดงว่าจิตที่เป็นโลภมูลจิตมี ๘ ประเภท หรือ ๘ ดวง จิต ๔ ดวงมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย อีก ๔ ดวงไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ใช้คำแยกให้เห็นว่า ถ้ามีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็เป็น “สัมปยุตต์” ถ้าไม่มีก็ใช้คำว่า “วิปปยุตต์” เพราะฉะนั้นโสมนัสสสหคตัง จิตนั้นมีเจตสิกที่เป็นโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง จิตนั้นก็มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นสัมปยุตตธรรม
ที่มา ...