โลภะ มีความยึดอารมณ์ ดุจลิงติดตัง จาก มักกฏสูตร
สำหรับลักษณะของโลภเจตสิก ที่เป็น อารมฺมณคฺคหณ ลกฺขโณ มีความยึดอารมณ์ เป็นลักษณะ ดุจลิงติดตัง ขอกล่าวถึงข้อความโดยตรงในพระไตรปิฎก คือ ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มักกฎสูตร ข้อ ๗๐๑ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลาย มีข้อความว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ อันไปได้ยาก ขรุขระ ไม่เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิง ทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่
ท่านผู้ฟังก็คงทราบว่า ภูเขาหิมาลัย ซึ่งในพระไตรปิฎกใช้คำว่า หิมพานต์ เป็นเทือกเขาซึ่งยาวสลับซับซ้อน มีมาในอดีตกาลเนิ่นนานทีเดียว เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงเปรียบเรื่องของธรรมทั้งหลายกับถิ่นต่างๆ ในภูเขาหิมาลัย ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ อันไปได้ยาก ขรุขระ ไม่เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิง ทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่ ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ อันไปได้ยาก ขรุขระ แต่เป็นที่เที่ยวของฝูงลิงเท่านั้น ไม่ใช่ของหมู่มนุษย์ มีอยู่
คือมีภูมิภาคหลายแห่ง ทั้งเป็นที่ขรุขระ ไม่เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิงและของมนุษย์ และในบางตอนบางส่วนก็เป็นที่เที่ยวไปของฝูงลิงเท่านั้น ไม่ใช่ที่เที่ยวไปของมนุษย์ มีอยู่
ภูมิภาคแห่งขุนเขา ชื่อหิมพานต์ ราบเรียบ น่ารื่นรมย์ เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิงทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่ ณ ที่นั้น พวกพรานวางตังไว้ในทางเดินของฝูงลิงเพื่อดักลิง ในลิงเหล่านั้น ลิงเหล่าใดไม่โง่ ไม่ล่อกแล่ก ลิงเหล่านั้น เห็นดังนั้น ย่อมหลีกออกห่าง ส่วนลิงใดโง่ ล่อกแล่ก
อย่าลืมคิดถึงท่านผู้ฟังนะคะ แทนที่จะคิดถึงลิง
ส่วนลิงใดโง่ ล่อกแล่ก ลิงตัวนั้นเข้าไปใกล้ตังนั้น เอามือจับ มือก็ติดตัง มันจึงเอามือข้างที่สองจับ ด้วยคิดว่า จักปลดมือออก มือข้างที่สองก็ติดตังอีก มันจึงเอาเท้าจับ ด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองออก เท้าก็ติดตังอีก มันจึงเอาเท้าข้างที่สองจับ ด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองและเท้าออก เท้าที่สองก็ติดตังอีก มันจึงเอาปากกัด ด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองและเท้าทั้งสองออก ปากก็ติดตังอีก ลิงตัวนั้นถูกตรึง ๕ ประการอย่างนี้แล นอนถอนใจ ถึงความพินาศ ยุบยับแล้ว อันพรานจะพึงกระทำได้ตามความปรารถนา พรานแทงลิงตัวนั้นแล้วจึงยกขึ้นไว้ในที่นั้นเอง ไม่ละทิ้ง หลีกไปตามความปรารถนา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องลิงเที่ยวไปในถิ่นอื่น อันมิใช่ที่ควรเที่ยวไป ย่อมเป็นเช่นนี้แหละ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร มารจักได้ช่อง มารจักได้อารมณ์ ก็อารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุ คืออะไร คือ กามคุณ ๕ กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือ รูปที่พึงรู้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด เสียงที่พึงรู้ด้วยหู อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด กลิ่นที่พึงรู้ด้วยจมูก อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด รสที่พึงรู้ด้วยลิ้น อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ คืออารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร มารจักไม่ได้ช่อง มารจักไม่ได้อารมณ์ ก็อารมณ์อันเป็นของบิดาตนอันเป็นโคจรของภิกษุ คืออะไร คือ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คืออารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจรของภิกษุ.
จบ สูตรที่ ๗
ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องอะไร ก็จะต้องตรัสถึงการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นหนทางเดียว ที่จะทำให้ดับกิเลสได้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งซึ่งดับยาก แต่ก็สามารถที่จะอบรมให้เจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย