เวทนาเปรียบเหมือนพระราชา
ข้อความในอัฏฐสาลินี อุปมาว่า
ความจริง “เวทนา” เปรียบเหมือนพระราชา ธรรมนอกจากนี้ คือ เจตสิกอื่นๆเปรียบเหมือนพ่อครัว ต้นเครื่อง ผู้ที่ปรุงโภชนะมีรสดีต่างๆ และใส่ลุ้งหรือโตกไว้ ประทับตรา นำเข้าไปวางไว้ใกล้พระราชา แกะเอาตราออก เปิดลุ้งหรือโตก ตักเอาส่วนบนๆจากแกงและกับทั้งหมด ใส่ในภาชนะแล้วชิม เพื่อลองดูว่า มีโทษหรือไม่มีโทษ ต่อจากนั้นก็นำภาชนะซึ่งมีรสต่างๆ เข้าไปถวายพระราชา พระองค์ทรงเป็นเจ้าของ เสวยได้ตามพระราชประสงค์ เพราะทรงเป็นใหญ่และทรงมีอำนาจ ธรรมนอกจากนั้นเสวยอารมณ์เพียงบางส่วน เหมือนต้นเครื่อง ซึ่งเพียงแต่ชิมทดลองซึ่งพระกระยาหารเพียงบางส่วนเท่านั้น
เพราะฉะนั้นผัสสะก็รู้อารมณ์นิดหนึ่งส่วนหนึ่ง โดยกระทบ สัญญา ก็รู้อารมณ์ที่ปรากฏ โดยหมายรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ แต่เจตสิกซึ่งเสวยอารมณ์โดยตรง ได้แก่ เวทนาเจตสิก เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพที่ทำให้จิตฟูขึ้น เป็นสุข หรือทำให้จิตห่อ เหี่ยว แห้ง เป็นทุกข์ แล้วแต่ลักษณะของเวทนา