ธรรมเป็นเรื่องเบาสบาย อย่ากังวลหรืออย่าคิดว่าหนัก -พฐ.110


    ความจริงธรรมเป็นเรื่องเบาสบาย อย่ากังวล อย่าคิดว่าหนักหรือว่ายาก เพียงแต่ว่าเราฟังธรรมให้เราเข้าใจในสิ่งที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อน เพราะขณะที่ฟังก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังมีจริงๆ ที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังแล้วไม่ต้องไปคิดว่าแล้วเราจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเมื่อไหร่ หรือว่าเมื่อไหร่เราจะไปรู้อย่างโน้นอย่างนี้ในพระไตรปิฎก ในพระอรรถกถากว้างขวาง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ฟังเพื่อให้เป็นปัญญาของเราเองที่จะได้เข้าใจว่าสิ่งที่มี และไม่เคยรู้เลยเป็นอนัตตาคือไม่ใช่เรา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราเคยยึดมั่นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เพราะเหตุว่าสิ่งที่มีจริงแต่ละลักษณะนั้นใครจะเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุว่าเราไม่ได้ฟังบ่อยๆ เราก็ยึดถือสภาพธรรมเหมือนเดิม แล้วเมื่อได้ยินคำอะไรก็คิดว่ายากมาก แต่ความจริงถ้ามีความเข้าใจแล้ว เราก็เพียงแต่เพิ่มเติมด้วยคำอีกภาษาหนึ่งซึ่งเป็นภาษาบาลี เช่น ธรรม ภาษาไทยเราก็ใช้ แต่ว่าเราต้องเข้าใจให้ละเอียดกว้างขวางว่าต้องเป็นสิ่งที่มี ไม่อย่างนั้นเราจะมาพูดเรื่องธรรมกันทำไม พูดในเรื่องสิ่งที่ไม่มีพูดทำไม แต่ว่าพูดให้เข้าใจสิ่งที่มีให้ถูกต้องว่าเป็นธรรม และก็ที่เราฟังมาแล้วก็คือว่าธรรมก็มี ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรมซึ่งได้แก่ปรมัตถธรรม ๓ ที่เกิดขึ้น คือ จิต เจตสิก รูป ถ้าเราฟังเท่านี้ เรามีความเข้าใจเท่านี้ แต่เมื่อเราฟังต่อไป เราก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าจิตกับเจตสิกแยกกันไม่ได้เลย นี่คือการทบทวน ต้องเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้สิ่งที่กำลังรู้คืออารมณ์ในขณะนั้นพร้อมกัน แต่เราเพิ่มคำว่า “เป็นสัมปยุตตปัจจัย” เพราะว่าเราบอกแล้วว่าสภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดจะเกิดลอยๆ ไม่ได้ ต้องอาศัยสภาพธรรมที่เกื้อหนุนอุปถัมถ์ให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น เมื่อทั้งจิต และเจตสิกแยกจากกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตก็เป็นปัจจัยให้เกิดเจตสิก และเจตสิกก็เป็นปัจจัยให้เกิดจิต เวลาที่นามธรรมเป็นปัจจัยแก่กัน และกันเกิดขึ้นทำให้เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ถ้าเป็นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่รูปเดียวกันมีชื่อว่า สัมปยุตตปัจจัย อย่างนี้แล้วเราจะว่ายากตรงไหน

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110


    หมายเลข 7797
    22 ม.ค. 2567