การตรึกถึงเรื่องของธรรม


    ผู้ฟัง นอกจากในการเจริญสติปัฏฐาน ในการที่เราจะระลึกถึงสภาพธรรม ในการฟังอะไรต่างๆ แล้วคือฟังไปเรื่อยๆ ตรึกไปเรื่อยๆ เรื่องอื่นที่ไม่ปรากฏ เราก็ไม่ควรที่จะไปนึกถึงอะไรอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เราไม่ทราบเลยว่าแม้แต่ที่คุณอารีย์กล่าวทุกคำ ก็คือเพราะได้ฟังธรรมมา แล้วก็มีการสะสมทำให้มีการตรึกหรือการคิดในเรื่องของธรรม แต่ละคนก่อนศึกษาไม่คิดเลยเรื่องธรรม คิดเรื่องอื่นทั้งนั้น แต่เมื่อฟังธรรมแล้วก็มีการที่จะคิดถึงธรรม หรือบางคนไม่เคยฝันเรื่องธรรมเลย แต่ว่าอาจจะมีปัจจัยที่จะฝันถึงเพื่อนที่ศึกษาธรรมหรือเรื่องธรรมที่ได้ยินได้ฟัง แสดงว่าแม้แต่ความคิดเราไม่รู้เลยว่าต่อไปคิดอะไรต่อจากขณะนี้ เดี๋ยวนี้ คำนี้ด้วยใช่ไหม เพราะฉะนั้นที่บางคนก็คิดว่าชีวิตประจำวันเป็นอย่างหนึ่งแล้วก็หลงลืมไปหลุดไป ความจริงแล้วก็คือว่าถ้ารู้เมื่อไหร่ก็คือขณะนั้นมีความเข้าใจว่าธรรมเกิดแล้วก่อนที่เราจะไปคิดว่าเราจะทำอะไรทั้งหมด เช่น ขณะนี้เห็นมีแล้ว คิดนึกก็มีด้วย แต่อาจจะมีความเป็นเราที่จะไปคิดเรื่องที่จะทำอะไรต่อไป แต่ว่าจริงๆ แล้วฟังจนกระทั่งรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แม้คิดก็เกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจตามความเป็นจริงว่าเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย คือให้รู้ความจริงของการสะสม การคิดถูกไม่ง่าย แต่ต้องมีการฟังแล้วฟังอีกในชาติก่อนๆ แล้วความคิดก็ค่อยๆ ตรง ค่อยๆ ถูกขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่เป็นปกติอย่างนี้เราจะเห็นการสะสมของแต่ละคนไหม แต่ละคนต่างกันอย่างไร เมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้วจึงได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นเราลืม และชินต่อการที่เราจะทำ เราจะอยู่ เราจะมีสิ่งแวดล้อมอย่างนั้น เราจะอ่านหนังสือมากๆ เราจะฟังวิทยุนานๆ เราจะไม่ไปไหน บางคนก็อาจจะคิดว่าอย่างนั้น แต่นั่นคือความคิด แต่สิ่งที่ปรากฏแล้วไม่ได้รู้ เพราะในขณะที่คิดก็เห็น ก็ได้ยิน ไม่รู้เลย แต่คิดไปเรื่องอื่นถึงสิ่งที่ยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นการฟังก็คือให้เป็นผู้ที่มีปกติ เข้าใจถูกอย่างมั่นคงว่าสภาพธรรมเกิดแล้ว ถ้ารู้ก็คือรู้สิ่งที่ปรากฏแล้ว ค่อยๆ เข้าใจก็คือค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เราก็จะตัดความคิดของเราว่าจะต้องไปทำอย่างนั้นบ้าง จะต้องไปทำอย่างนี้บ้าง ก็เป็นเรื่องที่ว่าถ้าเมื่อไหร่สามารถที่จะมีการรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น เมื่อนั้นเราก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องทำ ไม่ใช่เรื่องคิดว่าจะเป็นอย่างอื่น แต่ว่าคือขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็เป็นปกติด้วย เพราะบางคนเข้าใจว่าสติปัฏฐานต้องแปลกต้องต่าง ต้องผิดปกติไปเลย ธรรมดาอย่างนี้เอง แต่ว่าน้อยมาก เพียงรู้นิดเดียวแล้วก็มีอย่างอื่นที่ยังไม่รู้ และก็เราเคยชินกับการคิด เพราะฉะนั้นพอมีสตินิดเดียวอย่างปกตินี้ก็จะคิดเรื่องรูปบ้าง เรื่องนามบ้าง เรื่องอะไรบ้าง โดยที่ว่าขณะนั้นยังไม่ได้รู้ทั่ว เพราะเหตุว่าต้องมีการรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่เป็นปกติจนทั่ว ต้องใช้คำว่า “ที่เป็นปกติ” เพราะว่าเกิดแล้ว

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 110


    หมายเลข 7807
    22 ม.ค. 2567