ทิฏฐิในชีวิตประจำวัน


    ผู้ฟัง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทิฏฐิไว้ จำแนกออกเป็น ๖๒ ประการ ส่วนใหญ่ในพระไตรปิฎกก็กล่าวว่า เห็นว่าเที่ยง ก็เป็นทิฏฐิ เห็นว่าสูญ ก็เป็นทิฏฐิ เห็นว่ากายก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพก็อันนั้น พยัญชนะต่างๆมากมายเหลือเกิน อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจ แล้วก็บอกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บางทีก็ตรงกัน สังขารขันธ์ทั้งหลายไม่เที่ยง นิพพานเที่ยง อย่างนี้ก็ยังเป็นทิฏฐิอีก ขอให้อาจารย์อธิบายขยายความทิฏฐิทั้ง ๖๒ ประการให้หน่อย

    ท่านอาจารย์ ถ้าท่านผู้ฟังคิดว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ก็พักไว้ก่อน คงจะเข้าใจตลอดหมดทุกสิ่งทุกประการคงไม่ได้ แต่สามารถที่จะเข้าใจทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ซึ่งเกิดขึ้น ในชีวิตประจำวันของท่านเอง หรือผู้ที่ใกล้ชิด หรือของมิตรสหายได้ ประโยชน์คืออะไรคะ เพื่อเกื้อกูลอนุเคราะห์ ถ้าสามารถจะกระทำได้ ที่จะให้เขาเกิดความเห็นถูกขึ้น อย่างท่านผู้ฟังที่เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานตอนกลางวัน ท่านก็บอกว่า พอตอนกลางคืน ท่านอยากจะทำสมาธิ ในขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อาจจะเป็นการตรึกนึกคิดวุ่นวายเรื่องอื่นๆ เพราะเหตุว่ายามว่างจากธุรกิจการงาน ท่านก็อาจจะมีปัจจัยที่จะให้นึกถึงอดีตบ้าง อนาคตบ้าง เรื่องบุคคลนั้นบ้าง เรื่องบุคคลนี้บ้าง ทำให้มีความรู้สึกว่า อยากจะทำสมาธิ

    เพราะฉะนั้นในขณะนั้นทราบได้ว่า ไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน อะไรทำให้ต้องการที่จะทำสมาธิ โลภมูลจิตค่ะ เกิดขึ้น จึงมีความพอใจ มีความต้องการสิ่งอื่น ที่ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามเหตุตามปัจจัย ตามความเป็นจริงในขณะนั้น


    หมายเลข 7821
    22 ส.ค. 2558