เกื้อกูลผู้ที่ปฏิบัติผิด
ผู้ฟัง ข้อนี้เกี่ยวกับบารมีในอดีตที่สั่งสมมา ในเวลานี้ในกรุงเทพนี้ มีข้อปฏิบัติที่ผิดจากมรรคมีองค์ ๘ แล้วก็เข้าใจว่าเป็นมรรคมีองค์ ๘ มากมายหลายสำนัก และเป็นที่นับถือของคนทั้งหลายด้วย ซึ่งคนทั้งหลายเชื่อว่า ข้อปฏิบัตินั้นเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก เพราะฉะนั้นผู้ที่ไปปฏิบัติตามข้อปฏิบัติต่างๆ ในกรุงเทพนี้ เขาก็พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อปฏิบัตินั้นถูก ถ้าเขาไม่ได้พิจารณา เขาก็คงไม่เข้าไปปฏิบัติ เพราะว่าเมื่อเข้าไปปฏิบัติแล้ว บางคนเขาก็ได้ผลต่างๆนานา เห็นโน่นเห็นนี่ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้สั่งสมมาอย่างถูกต้อง การที่จะคบกัลยาณมิตรอย่างถูกต้องก็เป็นการยากอีกเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ แต่เมื่อมีโอกาสที่จะได้ฟัง หรือมีโอกาสที่จะเกื้อกูลกันด้วยการสนทนา ก็ไม่ทราบอีกเหมือนกันว่า ลึกลงไปของการสะสมของบุคคลนั้น จะมีเชื้อไฟของปัญญาพอที่จะเป็นแสงไฟขึ้นมาได้อีกหรือเปล่า
ผู้ฟัง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ตรงกับเหตุที่จะให้เกิดทิฏฐิ ประการที่ ๓ คือ
อริยานํ อทสฺสนกามตาทีนิ ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น
นั่นก็แสดงอยู่แล้วว่า เป็นผู้ไม่ต้องการจะเห็นพระอริยะจริงๆ เพราะเหตุว่าไม่พิจารณาหนทางที่จะทำให้เห็นพระอริยบุคคล ไม่รู้ว่าพระอริยบุคคลนั้นเจริญปัญญาอย่างไร
ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี อธิบายว่า
ด้วยความเป็นผู้ไม่ต้องการเห็นพระอริยะทั้งหลายและสัตบุรุษทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ด้วยความเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ อันแบ่งเป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น ด้วยความขาดวินัย กล่าวคือ ความแตกแห่งสังวรในธรรมของพระอริยะ อันเป็นประเภทเป็นปาติโมกขสังวร อินทรียสังวร สติสังวร ญาณสังวร ปหานสังวร และในธรรมของสัตบุรุษ