สังวรวินัย ๕
สำหรับ “สังวรวินัย” ก็มี ๕ อย่าง คือ
“ศีลสังวร” ความสำรวม คือ ศีล ซึ่งถ้าเป็นภิกขุก็ต้องตามพระปาติโมกข์ ในขณะใดที่สติระลึกที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระปาติโมกข์ ขณะนั้นก็เป็นปาติโมกขสังวร
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นภิกษุนี้เพียบพร้อมด้วยปาติโมกขสังวรหรือเปล่า เพราะเหตุว่าสิ่งที่ทำให้เพศบรรพชิตต่างกับเพศคฤหัสถ์ ก็คือพระปาติโมกข์ ซึ่งเป็นข้อประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุ
เพราะฉะนั้นพระภิกษุก็จะต้องมีสติระลึกได้ที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระปาติโมกข์ แต่สำหรับฆราวาสก็เป็นศีลสังวร คือ การมีระเบียบวินัยในการที่จะรักษาศีล ไม่ล่วงศีล ๑
ศีลสังวร ๑ สติสังวร ความสำรวม คือ สติ ๑ ญาณสังวร ความสำรวม คือ ญาณ ๑ ขันติสังวร ความสำรวม คือ ขันติ ๑ วิริยสังวร ความสำรวม คือ ความเพียร ๑
ฟังดูเป็นตำรา เป็นวิชาการ แต่แท้ที่จริงแล้วก็เป็นชีวิตปกติประจำวัน เป็นข้อประพฤติปฏิบัติสำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะเหตุว่าต้องเป็นผู้เข้าใจในศีลสังวร ที่จะไม่ล่วงศีล แล้วจะต้องเข้าใจในสติสังวร คือ ความสำรวมในจักขุนทรีย์ เป็นต้น ซึ่งหมายความถึงในขณะที่เห็นต้องมีสติที่จะระลึกได้รู้ว่า สภาพธรรมที่เห็นไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม
นี่คือชีวิตประจำวัน แต่ถ้าตามตำรา ก็คือ “สติสังวร” หรือ สติสังวร และสังวร หรือสังวร ที่มาดังนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อชิตะ กระแสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น เราย่อมกล่าวการกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านี้อันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญา ดังนี้ ชื่อว่า “ญาณสังวร” ดังนี้
พูดกันบ่อยๆ ใช่ไหมคะ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสของอกุศลธรรม เวลาที่สติเกิดอกุศลธรรมเกิดไม่ได้ในขณะนั้น ที่รู้อย่างนั้น ก็เป็น “ญาณสังวร”
ส่วน “ขันติสังวร” คือ สังวรที่มาดังนี้ว่า “เป็นผู้ที่อดทนต่อความหนาว ต่อความร้อน” ดังนี้ ชื่อว่า “ขันติสังวร”
ท่านผู้ฟังมีหรือเปล่าคะ อากาศก็กำลังจะร้อนขึ้นๆทุกวัน แล้วชีวิตประจำวันของผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญา ซึ่งการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องอาศัยความอดทนอย่างยิ่ง อดทนที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ไม่ว่าจะร้อนหรือจะหนาว ก็รู้ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ช่วยให้อดทนได้ไหมคะ ถ้ารู้อย่างนี้
เมื่อมีกาย ก็ต้องมีความทุกข์ ซึ่งเกิดเพราะกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยกาย เย็นบ้าง ร้อนบ้าง เป็นของธรรมดา เมื่อมีกายแล้ว จะไม่กระทบกับเย็นร้อนที่ทำให้เกิดความทุกข์ เป็นไปได้ไหมคะ ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหลงลืมไม่รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบกายแล้วก็ดับไป
ถ้าไม่รู้อย่างนี้จริงๆ ย่อมเดือดร้อน ย่อมคร่ำครวญ ย่อมรำพัน ในขณะนั้นก็หลงลืมสติไปมาก ไม่ได้รู้ว่า ในขณะนั้นลักษณะที่ร้อน หรือว่าลักษณะที่เย็น ลักษณะของความรู้สึกซึ่งทุกข์กายในขณะนั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแล้วถ้าอดทนไม่ได้ เป็นยังไงคะ จะยิ่งเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง ใช่ไหมคะ พยายามที่จะหาสิ่งซึ่งจะผ่อนคลายความทุกข์กายนั้น ถ้าหาได้ก็ดี แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ยิ่งเดือดร้อน รำคาญใจ เพราะฉะนั้นก็ยิ่งเป็นทุกข์เพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้นการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เวลาที่มีการสังวรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ย่อมเป็นผู้ที่อดทนต่อความหนาว ต่อความร้อนได้ เวลาที่ปัญญาเกิดขึ้น ชื่อว่า “ขันติสังวร”
ดีหรือไม่ดีคะ ก็อย่าลืมนะคะเวลาที่กระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทั้งหลาย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
นอกจากนั้นก็มี
ประการที่ ๕ คือ “วิริยสังวร” สังวร คือ ความเพียร
สังวร ดังที่กล่าวมานี้ว่า “ย่อมไม่ยังกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ให้อยู่ทับ” ดังนี้ ชื่อว่า “วิริยสังวร”
นี่คือข้อความในอรรถกถา ซึ่งมาจากพระไตรปิฎก ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นความสมบูรณ์ของพยัญชนะได้ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะพูดเอง อาจจะไม่ได้ความหมายที่กระชับอย่างนี้ แต่ว่าข้อความในอรรถกถามีว่า “ย่อมไม่ยังกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ให้อยู่ทับ”ทุกคนมีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ใช่น้อยนะคะ มาก และไม่มีวันอิ่ม ไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันพอ
เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่อบรมเจริญปัญญา “ก็ย่อมยังกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ให้อยู่ทับ” ไม่มีวันที่จะพ้นไปได้เลย แต่ว่าผู้ที่อบรมเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดวันหนึ่ง “ย่อมไม่ยังกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ให้อยู่ทับ”หมายความว่า กามวิตกนั้นไม่สามารถที่จะครอบงำต่อไปด้วย “วิริยสังวร”
ก็สังวรทั้งหมดนี้ เรียกว่า “สังวร” เพราะระวังกายทุจริตเป็นต้น อันควรระวังตามควรแก่ตน และเรียกว่า “วินัย” เพราะกำจัดกายทุจริตเป็นต้น อันควรกำจัดตามควรแก่ตน
สังวรวินัยพึงทราบว่า แจกได้ ๕ อย่าง ด้วยประการฉะนี้ก่อน
สำหรับปกติประจำวันนะคะ