ทิฏฐิ - ก้าวล่วงได้ยาก
ทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า ก้าวล่วงได้ยาก เหมือนดังชัฏหญ้า ชัฏป่า ชัฏภูเขา
เพราะเหตุว่าเรื่องของความเห็นผิด ในคราวก่อนก็ได้กล่าวถึงลักษณะของความเห็นผิดในอัฏฐสาลินี อรรถกถา ซึ่งมีข้อความว่า
ทิฏฐิ นั่นแหละ ชื่อว่า ทิฏฐิคหนํ ด้วยอรรถว่า ก้าวล่วงได้ยาก มงคลตื่นข่าวก็แสนจะก้าวล่วงได้ยาก เหมือนดังชัฏหญ้า ชัฏป่า และชัฏภูเขา
ถ้ามีแต่ทุ่งหญ้า ก็ยากที่จะหาทิศทางได้เจอ สำหรับเมืองเราก็มีทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งใครเข้าไปแล้วก็หาทางออกไม่ได้ แม้แต่พวกกุลา ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นเผ่าที่มีความอดทน ก็ยังถึงกับร้องไห้ เพราะเหตุว่าว่าไม่สามารถจะหาทางออกได้
เพราะฉะนั้นความเห็นผิด ก็ทำให้วนเวียนอยู่ในความเห็นผิด หลงอยู่ในความเห็นผิด ไม่สามารถจะพบเหตุและผลจริงๆ ที่จะทำให้ออกจากความเห็นผิดได้ เหมือนคนที่หลงอยู่ในชัฏหญ้า หรือชัฏป่า และชัฏภูเขา ภูเขาวงกต ก็คงเคยได้ยิน ถ้าเป็นภูเขาที่สลับซับซ้อนคดเคี้ยว เป็นผู้ไม่ชำนาญ ก็ไม่สามารถหาทางออกได้ ฉันใด มงคลตื่นข่าวทั้งหลาย ถ้าไม่พิจารณาในเรื่องของกรรมจริงๆ ไม่เป็นผู้มั่นคงในเรื่องของกรรมจริง ๆ ก็ยังวนเวียนอยู่ในเรื่องมงคลตื่นข่าวทั้งหลาย เพราะเหตุว่าไม่สามารถพบทางแท้ๆ ที่จะทำให้เป็นเหตุและเป็นผลได้ ก็ยังเป็นเรื่องของความสงสัย ความไม่แน่ใจอยู่เรื่อยๆ เพราะเหตุว่าทุกคนต้องอยู่ด้วยกรรมของตน อย่าลืม จะป่วยไข้ได้เจ็บ ถ้าไม่มีกรรมซึ่งเป็นอกุศลกรรม ก็คงไม่เกิดขึ้น ฉันใด กุศลวิบากก็ฉันนั้น ถ้าไม่มีกุศลที่ได้กระทำแล้ว กุศลวิบากก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ฉันนั้น