สงบจริงๆ คือสงบจากกิเลส


    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นจะทำอะไรต้องปรึกษาหรือศึกษาพระธรรมดูเสียก่อนว่า คำนั้นๆ หมายความว่าอะไร อย่างสมถะ ถ้าจะให้เข้าใจถูกต้อง สมถะ โดยศัพท์ภาษาบาลีเมื่อแปลเป็นภาษาไทย แล้ว หมายความว่า สงบ

    เพียงแค่นี้ไม่พอเลย คนก็ไปตีความอีกว่า นั่งคนเดียวเงียบๆ แต่นั่นไม่ใช่ค่ะ เพราะเหตุว่าสงบต้องสงบจากอกุศล สงบจากกิเลสจึงจะชื่อว่าสงบจริงๆ

    ถ้าเราไปตามท้องนาไกลๆ ไม่มีผู้คนเลย มีต้นตาล มีต้นข้าว มีน้ำ มีฟ้า แล้วจะบอกว่าที่นั่นสงบ ไม่ได้ค่ะ ใจของเราต่างหาก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญาที่จะรู้สภาพจิตว่า ขณะนั้นจิตของเรามีโลภะ มีความต้องการอะไรหรือเปล่า มีโทสะ มีความขุ่นเคืองใจไหม มีอกุศลธรรมใดๆ บ้างหรือเปล่า มีความคิดนึกซึ่งเป็นอกุศล เป็นไปในการเบียดเบียนประทุษร้ายบุคคลอื่นหรือเปล่า มีความคิดเรื่องการงานยุ่งๆ ทั้งวัน จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ ขณะนั้นก็ต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่สงบจากกิเลส

    การนั่งเฉยๆ อยู่ในห้อง ก็ไม่สงบจากกิเลส แต่สภาพอย่างหนึ่งซึ่งจะสงบกิเลสได้ ก็คือปัญญา

    เพราะฉะนั้นคำว่าปัญญาในพระพุทธศาสนา บางคนก็อาจจะคิดว่า รู้ แล้ว เข้าใจ แล้ว แต่ถ้าศึกษาจริงๆ จะรู้ว่า นั่นปัญญาที่เราคิดเอาเอง ปัญญาภาษาไทย ปัญญาในสมุดพก ปัญญาที่ครูเขียนมาว่า คนนี้สติปัญญามากน้อย แต่ว่าไม่ใช่ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สภาพนี้คือปัญญา ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ หมายความว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปัญญาสามารถเข้าใจถูกต้องในลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นได้ นั่นจึงจะชื่อว่า ปัญญา

    เพราะฉะนั้นทุกคนมีจิตใจ แต่ไม่เคยพิจารณาจิต มีแต่ความต้องการ แม้แต่ได้ยินคำว่า “สมถะ” ก็ยังไม่รู้ว่าอะไร แต่อยากจะทำ แล้ว เพราะฉะนั้นความอยากขณะนั้นไม่ใช่ความสงบ

    ความอยากมีหลายอย่าง บางคนก็ชอบรูปสวยๆ บางคนก็ชอบฟังเพลงเสียงเพราะๆ บางคนก็ชอบกลิ่นน้ำหอม เพราะฉะนั้นน้ำหอมราคาแพงมาก ตามความนิยม หรือตามโลภะของเรา ถ้าเราต้องการกลิ่นนี้ แต่ราคาแพงมาก อันนั้นก็เป็นเครื่องวัดโลภะของเราว่า เราต้องการขนาดไหน ต้องการที่จะซื้อ หรือต้องการเพียงได้กลิ่นนิดหน่อยก็พอ

    นี่แสดงให้เห็นว่า โลภะไม่เคยห่างไกลเรา ตั้งแต่เกิด ทางตาต้องการเห็นสิ่งที่สวยงาม ทางหูต้องการเสียงเพราะ ทางจมูกต้องการกลิ่นหอม ทางลิ้นต้องการรสอร่อย ทางกายต้องการกระทบสัมผัสสิ่งที่สบาย แม้แต่ในห้องนี้ เราก็ต้องการอากาศที่เย็นๆ สบายๆ เก้าอี้นุ่มๆ ไม่แข็งเกินไป นี่ก็เป็นความต้องการทางกาย ทางใจก็ยังต้องการเรื่องสนุกสนาน ดูทีวี ดูละคร คิดนึกเรื่องนั้นเรื่องนี้

    นี่แสดงให้เห็นว่า เรามีแต่ความต้องการทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้แต่ในเรื่องคำ เช่น คำว่า “สงบ” หรือคำว่า “นิพพาน” ยัง ไม่ทันรู้เลยว่า แปลว่าอะไร ก็อยากจะได้เสีย แล้ว อยากจะทำเสีย แล้ว อยากจะถึงเสีย แล้ว แล้วอย่างนี้จะเป็นปัญญาได้อย่างไร


    หมายเลข 7958
    22 ส.ค. 2567