ขันธ์ ๕ ได้แก่ปรมัตถธรรม ๓


    ผู้ฟัง ตัวสติจัดอยู่ในหมวดไหนของขันธ์ครับ

    ท่านอาจารย์ สังขารขันธ์ค่ะ เพราะว่าปรุงแต่งให้เป็นกุศล โลภะก็ปรุงแต่งให้ติดข้อง โทสะก็ปรุงแต่งให้พยาบาท ปัญญาก็สังขารขันธ์

    เพราะฉะนั้นสังขารขันธ์มีถึง ๕๐ ประเภท สภาพธรรมที่เกิดกับจิตที่เป็นเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือ ๕๐ เป็นสังขารขันธ์

    อย่างความรู้สึก เราสำคัญเหลือเกิน ทุกคนเกิดมาต้องการความรู้สึกเป็นสุข เพราะฉะนั้นจึงยกความรู้สึกเป็น ๑ ขันธ์ และความรู้สึกของเราก็เนื่องกับรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง สัมผัสบ้าง เพราะฉะนั้นรูปมีความสำคัญ

    สิ่งที่เราต้องการในชีวิตที่เราคิดว่า อยากจะได้มากๆ ได้แล้วจะเป็นสุข ก็คือรูปทั้งหลาย เพราะฉะนั้นรูปจึงเป็นขันธ์หนึ่งซึ่งเรายึดมั่น และรูปก็นำมาซึ่งเวทนา ความรู้สึก เพราะฉะนั้นเวทนา ทุกอย่างที่เราแสวงหาในชีวิตแต่ละวัน ก็คือความรู้สึกที่เป็นสุข เพราะฉะนั้นเวทนาขันธ์ก็เป็นขันธ์ที่มีความสำคัญที่เรายึดมั่น

    และถ้าเราไม่มีความจำ แม้แต่ความรู้สึกเป็นสุข มันก็ไม่ปรุงแต่ง แต่พอเราได้รับความรู้สึกเป็นสุขแล้ว และเราจำได้ อาหารตรงนี้อร่อย วันหลังก็ไปทานอีก ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นความจำก็เป็นเครื่องปรุงที่ทำให้เรายึดมั่นอันหนึ่ง ก็เป็นสัญญาขันธ์ พอถึงสังขารขันธ์ก็ปรุงให้เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง ขวนขวายไปในกิจการของโลภะบ้าง ของโทสะบ้าง

    ส่วนจิตนั้นเป็นใหญ่ เป็นประธานในการเห็น ก็เป็นวิญญาณขันธ์

    ขันธ์ ๕ ก็เป็นปรมัตถธรรม และปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เพราะฉะนั้นจิต เจตสิก รูปเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ก็ได้แก่ ปรมัตถธรรม ๓


    หมายเลข 7998
    24 ส.ค. 2567