อจินไตยและธรรมนิยาม


    ผู้ฟัง คำว่า “อจินไตย” กับ “ธรรมนิยาม” มีความหมายเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ คำว่า “อจินไตย” “จินต” หมายความถึง คิด “อ” แปลว่า ไม่ เพราะฉะนั้นหมายความถึงธรรมที่ไม่ควรคิด เพราะเหตุว่าไม่ใช่วิสัยของผู้นั้นจะรู้ได้ เช่นเรื่องกรรม เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ชาติก่อนเราทำกรรมอะไรมาแล้ว เราถึงได้มาเกิดเป็นคนนี้ และชาติหน้าต่อไป เราจะไปเกิดเป็นอะไร ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรคิด ในเมื่อมีสภาพธรรมปรากฏให้รู้ให้เข้าใจ แทนที่จะไปคิดถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็อบรมปัญญาที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าอยู่ในวิสัยที่จะรู้ได้ อะไรก็ตามที่อยู่ในวิสัยที่จะรู้ได้ ก็ควรรู้ควรคิด แต่อะไรที่คิดแล้ว เราไม่มีปัญญาถึงขั้นที่จะรู้อย่างนั้นได้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรคิด

    เพราะฉะนั้นเรื่องกรรมก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรคิด เรื่องวิบาก คือ ผลของกรรมซึ่งทุกคนทำมาแล้ว กรรมเป็นสิ่งที่ได้กระทำแล้ว และทุกวันนี้เราก็รับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เห็นขณะนี้ให้ทราบว่า เป็นผลของกรรม ได้ยินขณะนี้ก็เป็นผลของกรรม จะได้กลิ่น ลิ้มรส จะได้ลาภก็เป็นผลของกรรม จะสุขก็เป็นผลของกรรม จะทุกข์ก็เป็นผลของกรรม จะเสื่อมลาภก็เป็นผลของกรรม จะได้คำสรรเสริญหรือนินทาก็เป็นผลของกรรม แต่ไม่รู้ว่า วันไหน กรรมไหนจะให้ผล ขณะนี้เรานั่งอยู่ที่นี่ กำลังได้รับผลของกรรมนี้ แต่พรุ่งนี้หรือต่อไป จะได้รับผลของกรรมอะไรก็ไม่ทราบ

    เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะต้องคิด ไม่อย่างนั้นวันนี้เราก็ต้องมานั่งคิดเดี๋ยวนี้ว่า พรุ่งนี้เราจะได้รับผลของกรรมอะไร จะมาทางตา หรือทางหู เย็นนี้เราจะได้รับผลของกรรมอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ไม่ได้ เมื่อรู้ไม่ได้ ก็ “อจินไตย” คือ ไม่ควรคิด

    ผู้ฟัง แล้วทำ “ธรรมนิยาม” ละคะ

    ท่านอาจารย์ “ธรรมนิยาม” หมายถึงเป็นธรรมเนียม หรือเป็นสภาพธรรมของธรรมนั้นๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น


    หมายเลข 8015
    24 ส.ค. 2567