ชักชวนไปปฏิบัติ ๑
คุณศุกล เนื่องจากกระผมเคยได้สนทนาธรรมกับบางท่าน ก็พูดถึงปัญหาของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันนี้ว่า น่าจะมีสิ่งยึดเหนี่ยวหรือบังคับจิตใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน เพราะว่าผลของการที่คนหนุ่มคนสาวไปยึดถือสิ่งที่สนุกเพลิดเพลิน เช่น สถานเริงรมย์ต่างๆ นำมาซึ่งความเสียหาย และความเดือดร้อน เพราะฉะนั้นพูดถึงการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นมิจฉาสมาธิ หรือจะเป็นสัมมาสมาธิ เขาก็พูดว่า ดีกว่าปล่อยให้คนหนุ่มสาวไปใช้ชีวิตในทางที่ไม่ก่อประโยชน์ให้ตัวเอง และครอบครัว
เพราะฉะนั้นก็สนับสนุนให้การไปปฏิบัติโดยให้นั่งสมาธิตามวัดหรือสถานที่ต่างๆ ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไรครับในเรื่องนี้
ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่า “สมาธิ” ไม่ผิด แล้วก็บอกให้เขารู้ด้วยว่า นี่ไม่ใช่สัมมาสมาธิ ก็ไม่ผิด คือ ให้ความจริง ให้ความถูกต้อง ไม่ใช่ว่าสิ่งที่ไม่ใช่สัมมาสมาธิก็บอกว่า เป็นสัมมาสมาธิ แต่บอกว่า นี่คือมิจฉาสมาธิ มีผลอย่างนี้ แต่ว่าไม่ใช่สัมมาสมาธิ ไม่ใช่หนทางปฏิบัติที่ทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
คุณศุกล แต่ว่าความเห็นของผู้ใหญ่ท่านนั้นก็ไม่ได้มีปัญญารู้แจ้งอะไร เป็นแต่เพียงว่า ดีกว่าปล่อยให้ไปใช้ชีวิตในทางที่เกิดความเดือดร้อน และเสียหาย เพราะฉะนั้นไม่ต้องกล่าวว่า จะเป็นกุศลหรืออกุศล แต่อย่างน้อยๆ ก็เป็นสิ่งที่ดีงาม จึงได้มีการชักชวนกันไปปฏิบัติธรรม อย่างเช่นเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มักจะมีการเชิญชวน และมีภาพปรากฏมา ซึ่งถ้าจะพูดกันถึงประโยชน์ ในความเข้าใจของกระผมคิดว่า คงจะเป็นเรื่องละเอียดมากกว่าที่จะไปบอกว่า ควรหรือไม่ควรไปปฏิบัติครับ
ท่านอาจารย์ ก็บอกเขาตามความเป็นจริงว่า ไปทำสมาธิ และสมาธิไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าการไปโรงเรียนก็มีหลายวิชา แต่นี่ไม่ใช่ไปโรงเรียน นี่ไปทำสมาธิ
คุณศุกล ถ้าอย่างนั้นก็ไม่เป็นเรื่องเสียหายอะไร ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ให้เขาเข้าใจถูกว่า นี่คือสมาธิ และก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิ ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘
ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิแน่นอน มิจฉาสมาธิไม่ใช่มีแต่เฉพาะประเทศไทย ทุกประเทศมี และบางประเทศก็ยังบอกว่า เป็นหนทางที่จะรู้แจ้งนิพพาน อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ก็มี ติดป้ายประกาศแล้วคนก็ตื่นเต้นไปโดยที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม และไม่มีเครื่องวัด แต่ถ้าศึกษาพระธรรมก็สามารถชี้แจงว่า เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะอะไร ไม่ใช่กล่าวเฉยๆ ว่า เป็นมิจฉาสมาธิ ต้องมีเหตุผลด้วยว่า เป็นมิจฉาสมาธิเพราะอะไร