ชักชวนไปปฏิบัติ ๒
ผู้ฟัง ผู้สอนจะต้องประกาศว่า สมาธิที่สอนนำไปถึงที่สุด คือ ความหลุดพ้นหรือนิพพาน หรือว่าผลที่ตามมาดีอย่างไร ไม่เห็นมีที่ไหนบอกเลยว่า เป็นมิจฉาสมาธิ ตัวผู้ไปศึกษาก็ไม่มีโอกาสได้ทราบ หรือผู้ปกครองที่ส่งเด็กไป ก็ไม่มีความรู้พอที่จะตัดสินได้ว่า เป็นสมาธิชนิดไหน
มันลำบากตรงนี้ค่ะ ขอเรียนถามอาจารย์
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นผู้ฟังไตร่ตรองคำที่ได้ฟัง นี่สำคัญที่สุด คือผู้ฟังมีสิทธิ์ คนที่พูดอยากจะพูดอะไรก็ได้ แต่คนฟังรู้ว่า คำพูดนั้นถูกหรือผิด คำพูดนั้นจริงหรือเท็จ
เพราะฉะนั้นไม่ใช่หมายความว่า เมื่อเป็นผู้พูดแล้วเราจะต้องเชื่อ ในพระพุทธศาสนาไม่มีเลยที่จะมีการบังคับให้เชื่อ หรือเชื่อเพราะเป็นครู เชื่อเพราะเป็นอาจารย์ก็ไม่ได้ แม้แต่ได้ยินได้ฟังมาจากพระโอษฐ์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังไม่ต้องเชื่อ จนกว่าจะไตร่ตรองว่า คำนั้นถูกต้องเป็นความจริง
เพราะฉะนั้นผู้พูด พูดไปเถอะ จะพูดอย่างไรก็ได้ แต่ผู้ฟังตัดสินเอง เพราะผู้ฟังมีวิจารณญาณ มีเหตุมีผลว่า คำพูดนี้ถูก หรือว่าคำพูดนี้ผิด ถ้าอยากจะเชื่อ ไม่ไตร่ตรอง ก็ช่วยไม่ได้ ใช่ไหมคะ แต่ผู้ที่แสวงหาความจริง คือ สัจธรรม ผู้นั้นไม่ต้องการของหลอก ของลวง ของเท็จ ผู้ที่แสวงหาสัจธรรมต้องการความจริง และรู้ว่า ความจริงนั้นต้องมีเหตุผล และต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ และโดยเฉพาะถ้าเป็นคำของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหมดต้องเป็นเรื่องละ ถ้าเรื่องอะไรก็ตามเพื่อได้ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปทำแล้วจะได้อะไร นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทราบได้เลยว่า ละทั้งหมด ตั้งแต่ฟัง ละความไม่รู้ ละความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ละความไม่มีเหตุผล ให้เข้าใจในเหตุผล ให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมอย่างถูกต้อง นั่นจึงจะเป็นคำสอน แต่ถ้าไปแล้วจะได้ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แน่
เคยมีคนที่เข้าไปหาบางท่าน ที่ท่านก็ไขว่คว้าหาสายสร้อย นาฬิกามาให้สารพัดอย่าง ถ้าไปถามผู้นั้น ท่านบอกว่า เราไม่ได้ต้องการเลย ไม่ว่าจะเป็นแก้วแหวนเงินทอง ไม่ได้มีความต้องการในสิ่งนั้น ขอฟังธรรมที่จะทำให้ไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้น ได้จริงๆ ให้ดับโลภะหมดเป็นสมุจเฉท ท่านผู้นั้นจะสอนได้ไหม ในเมื่อท่านคว้าอะไรต่ออะไรมาให้ ก็แสดงให้เห็นว่า ท่านเห็นผู้นั้นยังมีโลภะ ความต้องการ แต่คนที่ต้องการปัญญาจริงๆ ไม่ได้ต้องการอะไร แม้แต่นิพพานก็ไม่ต้องการ ต้องการความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเพิ่มขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง
เรื่องนิพพานไม่ต้องห่วงค่ะ ต้องถึงถ้าเป็นผู้เดินหนทางที่ถูก แต่ถ้าเป็นผู้ต้องการนิพพาน แต่ไปผิด ไม่มีความรู้อะไรเลย และก็เชื่อว่า ได้นิพพาน ก็เหมือนกับคนตาบอดที่ได้ผ้าดำมา และคนอื่นก็บอกว่า นี่ผ้าขาว คนนั้นก็ปลาบปลื้มใจ คิดว่าตนเองได้ผ้าขาวมาแล้ว แต่ความจริงก็คือผ้าดำ เพราะว่าตาเขาไม่สามารถเห็นได้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเหมือนรักษาคนตาบอดให้มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริงด้วยตัวของตัวเอง
อย่าคิดว่า คนที่พูด คนอื่นจะเชื่อ คนฟังมีสิทธิ์ที่จะพิจารณาว่า ถูกหรือผิด ไม่จำเป็นต้องเชื่อ สามารถแสดงความคิดเห็นหรือขัดแย้งก็ได้ ถ้าไม่เห็นด้วย แต่ผลก็คือว่า ถ้าสิ่งใดผิด ต้องยอมรับว่าผิด ถ้าสิ่งใดถูกก็ยอมรับว่าถูก การสนทนาธรรมนั้นจึงจะมีประโยชน์
พระเถระท่านหนึ่ง ก่อนที่ท่านจะแสดงธรรม ท่านกล่าวเลยว่า เมื่อฟังแล้วก็ให้มีเหตุผล หมายความว่า ถ้าไม่เห็นด้วยก็ให้บอก และถ้าพิจารณาแล้วจึงสมควรที่จะเห็นด้วย หรือเห็นว่าถูก