ทำสมาธิต้องมีความเข้าใจ ๑


    ผู้ฟัง การทำสมาธิหรือการนั่งปฏิบัติ คือนั่งหลับตาเจริญภาวนาจะได้กุศลแรง ทีนี้ก่อนจะนั่งภาวนา หรือกล่าวคำว่า “พุทโธ” จะต้องรักษาศีลมาก่อน ถือศีล ๕ หรือศีล ๘ ก็ตามโดยเคร่ง เพราะฉะนั้นศีลก็จะเป็นการดับกิเลสเบื้องต้นก่อนทำสมาธิ เพราะฉะนั้นโดยเหตุผลนี้ก็น่าจะมีเหตุว่า การทำสมาธิ น่าจะเป็นกุศล ขอเรียนถามอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ตอนแรกที่ได้ฟัง ได้ฟังว่า การทำสมาธิจะได้กุศลแรง ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ เรื่องเอา ใช่ไหมคะ เรื่องได้ ใช่ไหมคะ ไม่ใช่เรื่อง “ละ” เลย เพราะฉะนั้นกุศลก็เป็นเรื่องละค่ะ ไม่ใช่เรื่องได้ นี่ก็ต่างกันแล้ว ใช่ไหมคะ กุศลก็คือขณะใดที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ จึงเป็นกุศล แต่ขณะใดที่ต้องการ ขณะนั้นจะไม่ใช่กุศลเลย

    นี่เป็นเรื่องละเอียดที่ต้องแยกแม้แต่ในขั้นของการฟัง ลักษณะของโลภะ ความติดข้อง ต้องการไปหมดทุกอย่าง ต้องการแม้กุศล ถ้าถามใครๆ ดู ก็บอกว่าอยากได้กุศล หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือ อยากได้บุญ ทำไมเอาของไปถวายพระ ก็อยากได้บุญ อะไรๆ ก็อยากได้บุญ โดยที่ไม่ทราบจนต้องถามว่า ทำอย่างนี้เป็นบุญไหม คือ ไม่รู้จักบุญ แต่อยากได้บุญ และคิดว่าที่ทำไปนั้นเป็นบุญ

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความละเอียดที่จะต้องสะสางตั้งแต่ขั้นต้นให้เข้าใจจริงๆ ว่า “บุญ” คือ จิตที่ดีงาม จิตที่ดีงามก็คือขณะที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีอกุศลใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ขณะใดที่จิตใจสะอาด ประกอบด้วยสภาพจิตที่ดี ขณะนั้นถึงจะเป็นกุศล หรือเป็นบุญ

    เพราะฉะนั้นถ้ามีการอยากได้ ขณะที่อยากได้ สภาพที่กำลังอยากได้ไม่ใช่บุญ เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่า “ได้บุญ” จะได้บุญแล้วก็ทำเพราะต้องการได้บุญ ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลแน่นอน จะเป็นบุญไปไม่ได้

    และอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ทำสมาธิแล้วจะได้บุญ ถ้ายังไม่รู้ว่า “บุญ” คือ ขณะไหน จะไม่รู้เลย ก็ยังคงเป็นโมหะ

    ในวิสุทธิมรรค มีการอบรมเจริญภาวนา และมีอารมณ์ของสมถภาวนา ๔๐ อย่าง เริ่มต้นด้วยกสิณ คือ เอาดินมาทำเป็นวงกลมแล้วเพ่งดูเพื่อให้จิตสงบ คนที่อ่านวิสุทธิมรรคทำตามนั้น แต่ผลก็คือว่าไม่มีปัญญาหรือไม่มีความเข้าใจ ไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า จิตขณะที่สงบต่างกับขณะที่ไม่สงบอย่างไรในขณะนี้ เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับสลับเร็วมากจนยากที่จะรู้ว่า จิตที่สงบนั้นต่างจากจิตที่ไม่สงบ ขั้นนี้ต้องมีก่อนในการทำสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ แต่ถ้าไม่มีการระลึกรู้สภาพของจิตเลย ไม่มีความต่างกันเลย มีแต่ความต้องการเหมือนเดิม เพียงแต่ย้ายสิ่งที่ถูกต้องการเท่านั้นเอง ก่อนที่จะทำสมาธิก็ต้องการอาหารอร่อย ต้องการเสียงเพราะๆ ต้องการฟังเพลง นั่นคือก่อนสมาธิ แต่พอทำสมาธิ ก็ไม่ต้องการรูป ไม่ต้องการเสียง ไม่ต้องการกลิ่น ไม่ต้องการรส แต่ต้องการใจสบายๆ ที่ไม่กังวล ไม่เดือดร้อน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่คิดมาก ไม่ห่วงใย ก็เลยคิดว่า ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ความจริงขณะที่กำลังพอใจสิ่งใดก็ตาม ขณะนั้นเป็นอกุศล เป็นความติดข้อง และเป็นลักษณะของโลภะ

    เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาอย่างละเอียดในความต่างกันของอกุศลจิตกับกุศลจิต แล้วอย่าเป็นผู้ที่เชื่อง่าย แต่เป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งสัมปชัญญะทีนี้ก็คือปัญญา ต้องมีปัญญาพร้อมสติที่จะรู้ลักษณะของจิต ซึ่งกำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้


    หมายเลข 8022
    24 ส.ค. 2567