คิดด้วยโลภะแต่ไม่รู้
ผู้ฟัง หนูคิดว่า หนูทำทานกับคนตาบอด อาจจะทำให้ชาติหน้าภพหน้าหนูมีสายตาที่เป็นปกติ ไม่ทราบว่าเป็นอกุศลจิตหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ ต้องแยกกันนะคะ ต้องรู้ว่า ขณะที่เราให้เขา เราหวังอะไรหรือเปล่าคะ เวลาให้หวังอะไรหรือเปล่า
ผู้ฟัง ก็ไม่เชิงหวัง เป็นแต่เพียงคิดว่า เราอาจจะมีสายตาดีขึ้นบ้าง
ท่านอาจารย์ คิดหลังให้ หรือคิดกำลังให้ หรือก่อนให้
ผู้ฟัง คิดก่อนให้ค่ะ
ท่านอาจารย์ คิดก่อนให้ เป็นเหตุที่ให้ ใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ ก็คิดก่อนไง เพราะฉะนั้นถามว่า คิดอย่างนี้ก่อนให้ หรือว่ากำลังให้ หรือว่าหลังจากที่ให้แล้ว
ผู้ฟัง จะเป็นการคิดก่อนให้ แต่ไม่ได้หวังว่าจะเกิดจริงๆ เพียงแต่ว่า เหมือนกับเป็นสิ่งที่ไม่รู้ได้
ท่านอาจารย์ แล้วหวังบ้างไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่หวังเลย เพียงแต่คิด
ท่านอาจารย์ คิดเฉยๆ แต่ไม่หวัง เข้าใจความคิดไหมว่า เป็นแต่เพียงคิดนั้นคิดด้วยโลภะ ไม่ต้องอะไรเลย พรุ่งนี้วันศุกร์ แค่คิดอย่างนี้ จิตอะไรคิด เพราะว่าจิตใจแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ แยกอย่างนี้ก็ได้ คือ กุศลกับอกุศล จิตที่เป็นกุศล คือจิตที่ดีงาม คิดไปในเรื่องทาน ในเรื่องศีล ในเรื่องการช่วยเหลือคนอื่น ในเรื่องการทำตนให้เป็นประโยชน์ ในเรื่องการอบรมเจริญปัญญา ขณะนั้นเป็นกุศลจิต แต่นอกจากนั้นแล้วเป็นอกุศล คือ คิดด้วยโลภะ หรือคิดด้วยโทสะ คิดด้วยความติดข้อง ถ้าไม่มีเรื่องในใจสักเรื่องหนึ่ง เราคงไม่คิดว่า “พรุ่งนี้วันศุกร์” หรือถ้าเกิดคิดขึ้นมาว่า “บางลำพู” ก็คงจะมีอะไรสักอย่างที่ทำให้เราต้องคิด “บางลำพู” ใช่ไหมคะ จะไปซื้อของที่นั่น หรือไปธุระ หรือมีเหตุการณ์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับคำนั้น มิฉะนั้นคำนั้นก็คงไม่เกิด หรือไม่มีจิตที่คิดถึงคำนั้น ให้ทราบว่า แม้ความคิดของทุกคนไม่มีใครไปบังคับ ความคิดเกิดขึ้น แล้วเราถึงได้รู้ว่า ขณะนั้นคิดเรื่องนี้ ใช่ไหมคะ แต่มีสภาพมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ความคิดเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นขณะที่คิดในแต่ละวันที่ไม่เป็นไปในเรื่องทาน ไม่เป็นไปในเรื่องศีล ไม่เป็นไปในเรื่องของการเจริญกุศลแล้ว ถ้าจิตใจไม่ขุ่นมัว ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตที่คิด เป็นจิตที่ติดข้องจึงคิดเรื่องนั้น เวลาที่ดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์ คิดหรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง คิดค่ะ
ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ที่จะไม่คิดนั้นไม่มีเลย เวลาที่ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ดูโทรทัศน์ คิดหรือเปล่า ก็คิดอีก เพราะฉะนั้นความคิดของเราวันหนึ่งๆ เป็นอกุศลมาก ที่กล่าวว่า “ไม่หวัง” ก็ลองดูแล้วกัน เพียงแต่คิดว่า “พรุ่งนี้วันศุกร์” ก็ยังคิดด้วยโลภมูลจิต จิตที่ติดข้อง เพราะฉะนั้นที่คิดแล้วบอกว่า ไม่หวังนั้น จะเป็นจิตอะไรที่คิด ก็ต้องเป็นโลภะ ความหวัง
เพราะฉะนั้นโลภะแนบเนียนมาก เราใช้เขาชื่อเดียวว่า “โลภะ” ความโลภ ความต้องการ ความติดข้อง แต่ลักษณะอาการของโลภะมีมากมาย เช่นคำว่า “อาสา” ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของโลภะ ภาษาบาลีหมายถึง “ความหวัง”
เย็นนี้หวังอะไรบ้าง เพียงแต่ว่าจะรับประทานอะไร เห็นไหมคะ โลภะแล้ว หวังที่จะรับประทานสิ่งนั้น สิ่งที่กำลังคิดอยู่
เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ลักษณะของโลภะมีมากจนกระทั่งเราไม่รู้จัก เพราะว่าเขาอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด ก่อนจะหลับ จิตเป็นอะไรคะ พรุ่งนี้จะทำอะไร หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่พ้นจากโลภะอีก หลับไปกับโลภะ คือเรื่องที่คิดด้วยความติดข้องในเรื่องนั้น
เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่า จิตเป็นอกุศล มีอกุศลที่ต่างกันพอสังเกตได้ คือ ถ้าใจสบาย ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ถ้าใจไม่สบาย ขุ่นเคืองกังวลนิดหน่อย ขณะนั้นเป็นอกุศลอีกประเภทหนึ่ง คือ เป็นโทสมูลจิต เป็นจิตที่ประกอบด้วยโทสะ ความโกรธ
เพราะฉะนั้นยากที่จะพ้น ที่จะกล่าวว่าไม่หวัง ถ้าคิดจริงๆ แล้วก็เป็นความติดข้องซึ่งเราไม่รู้เองว่า ขณะนั้นเป็นความหวังชนิดหนึ่ง