ต้องฟังธรรมอีกนานแค่ไหน
คุณศุกล ท่านอาจารย์ได้เน้นถึงเรื่องควรฟังพระธรรม ก็มีผู้สงสัยว่า แล้วจะฟังไปนานสักเท่าไร เพราะว่าคงจะมีอีกหลายท่านสงสัยเรื่องการปฏิบัติว่า ถ้าไม่เข้าใจแล้ว ไม่ควรปฏิบัติ ก็ควรมีการเริ่มต้นฟังพระธรรมให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากๆ อยากจะขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายว่า การฟังพระธรรมจะฟังไปนานสักเท่าไร หรือพอที่ผู้ฟังจะพิจารณาว่า เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้มีการระลึกได้ เพื่อที่เป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ท่านอาจารย์ สิ่งไหนที่มีประโยชน์ มีวันพอไหมคะ ถ้าเห็นประโยชน์จริงๆ จะมีวันพอไหมคะ
คุณศุกล ผมขออนุญาตตอบอย่างนี้เลยครับ เพราะว่าตามปกติชีวิตประจำวัน ประโยชน์คือจะต้องให้ความสะดวกสบายต่อชีวิตต่อร่างกาย
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนค่ะ คำถามของดิฉันว่า สิ่งไหนที่มีประโยชน์ ถ้าผู้นั้นเห็นประโยชน์แล้ว จะมีวันพอไหม อย่างการฟังธรรม ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์แล้ว จะมีคำถามว่า เมื่อไรจะพอได้ไหม ในเมื่อเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์
คุณศุกล จะตอบว่าพอไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์จริงๆ แล้ว จะไม่มีคำถามนี้เลย ถ้ามีคำถามนี้หมายความว่า อยากได้ เพราะฉะนั้นก็มากะเกณฑ์ว่าแค่นี้พอหรือยัง แค่นั้นพอหรือยัง เพราะว่าอยากจะได้สิ่งที่เกิดจากการฟังธรรม แต่ถ้าเห็นจริงว่า พระธรรมมีประโยชน์ ขัดเกลากิเลส ขัดเกลาความไม่รู้ เท่าไรก็ไม่มีวันพอ เพราะว่าสิ่งที่มีประโยชน์จริงๆ นั้น เท่าไรก็ไม่พอ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์
คุณศุกล ทีนี้มีความคิดอย่างนี้ว่า ตามปกติแล้วการปฏิบัติก็ควรจะมีการเริ่มต้น ถ้ายังไม่เริ่มต้นปฏิบัติ อาจจะตายไปก่อนโดยที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม อันนี้เป็นความคิดที่เคยได้ยินได้ฟัง ไม่ทราบว่าจะมีคำแนะนำว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ เพราะขณะนั้นเข้าใจว่าเป็นตัวเราปฏิบัติ จึงจะเริ่มต้น แต่ถ้ารู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีหูกับไม่มีเสียง การได้ยินก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีการฟังธรรมเข้าใจ จะเอาอะไรปฏิบัติ นอกจากคิดเองว่า ตัวเรากำลังปฏิบัติ แต่ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา ปัญญาไม่เกิดปฏิบัติกิจของปัญญา ปัญญาไม่อบรมเจริญขึ้นเลย เพราะเหตุว่าปัญญาขั้นต้นไม่มี แล้วจะเจริญขึ้นได้อย่างไร
คุณศุกล ท่านอาจารย์กล่าวว่า โลภะก็เป็นกิเลส โทสะก็เป็นกิเลส โมหะก็เป็นกิเลส แต่พอเป็นโลภะแล้ว รู้สึกว่าไม่เป็นความเดือดร้อนของใครทั้งสิ้น เช่น มีความต้องการอยากได้ แล้วก็ไปจัดหาซื้อมาได้ด้วยความสามารถ ก็ทำให้เห็นว่า แม้จะเป็นโลภะ เป็นกิเลส ก็ไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อตัวเอง และผู้อื่น แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนทุกข์เดือดร้อนมากคือโทสะ เวลาที่เกิดความโกรธ ความไม่พอใจ จนกระทั่งบางครั้งมีความรุนแรงมากๆ แล้วแสดงออกมา แล้วมารู้สึกตัวทีหลังว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ก็เลยเกิดความเดือดร้อน ทีนี้ถ้าในทางปฏิบัติที่จะเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เราควรแก้ไขอย่างไรครับ เช่นลักษณะของโทสะ คือ ความเดือดร้อน
ท่านอาจารย์ อย่าคิดที่จะแก้ไข อบรมเจริญปัญญาให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีตัวเราจะไปบังคับ จะไปแก้ อาจจะคิดว่าหมดไปได้ประเดี๋ยวเดียว เพราะคิดอย่างนั้น เพราะทำอย่างนี้ เพราะนับ ๑ ถึง ๑๐ บางทีต้องถึง ๑๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ ก็แล้วแต่ แต่โทสะก็ยังต้องเกิดอีก ทำไมถึงได้พอใจเพียงเท่านั้นที่จะไม่มีสภาพธรรมนั้นเพียงชั่วคราว แต่ก็ต้องเกิดอีกเรื่อยไป ทำไมไม่หาทางให้เข้าใจจริงๆ แล้วก็ไม่ให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นอีก ทำไมต้องการสิ่งที่นิดเดียว หน่อยเดียว แล้วก็ไม่เป็นสิ่งที่ให้ผลจริงจังด้วย เพราะเหตุว่าดับไม่ได้ ยังต้องเกิดอีก
เพราะฉะนั้นก็ควรเป็นผู้คิดจะดับกิเลส ไม่ใช่เพียงแต่ไม่ให้โลภะเกิด ไม่ให้โทสะเกิด เพราะว่าเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
คุณศุกล ก็เคยคุยกับท่านที่มีความเดือดร้อน เขาบอกว่า เวลานี้พอจะแก้ปัญหานี้ได้ เวลาที่เกิดความโกรธ ความไม่พอใจ ก็เข้าห้องพระ แล้วไปนั่งกำหนด พุทโธ พุทโธ เพื่อให้นึกถึงพระพุทธเจ้า อย่างนี้ก็ทำให้จิตใจสบาย ก็เลยคิดว่า การปฏิบัติอย่างนี้ช่วยให้ความโกรธนั้นลดน้อยลงไป อันนี้ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง
ท่านอาจารย์ แล้วก็โกรธอีก
คุณศุกล พอโกรธอีกก็มาเข้าห้องพระปฏิบัติอีก
ท่านอาจารย์ แล้วก็โกรธอีก ไม่มีทางหมด ก็ต้องโกรธอีก
คุณศุกล และคำแนะนำที่จะให้เป็นประโยชน์ และถูกต้องจริงๆ นั้น คืออย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ เจริญปัญญา เพราะผู้ที่จะไม่โกรธ ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล อยากจะมีตัวตน อยากจะมียาวิเศษ อยากจะมีอะไรก็ได้ที่ทำให้ไม่โกรธ โดยที่ไม่มีปัญญาเลย แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร อะไรก็ได้ ต้องการทุกอย่างนอกจากปัญญา ถ้าพูดอย่างนี้หมายความว่าอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ปัญญา กลัวปัญญา หรือไม่ชอบปัญญา หรือเบื่อปัญญาคะ