ฟังหรืออ่านก็ได้ ถ้าทำให้เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง ก็ยอมรับว่า ฟังธรรมเพื่อให้รู้ให้เข้าใจเพื่อจะได้เกิดปัญญา ใช่ไหมครับ ความหมายของท่านอาจารย์ที่ว่า “ฟัง” คงไม่ได้หมายความตรงตัว คงหมายถึงการศึกษาธรรม เช่น การอ่านจากตำราต่างๆ หรือได้ฟังจากผู้รู้แจ้งเห็นจริงก็ยิ่งมีประโยชน์ แต่ถ้าโอกาสไม่มี เราอาจศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมโดยการอ่าน ก็อยากขยายความ “การฟังธรรม” จากท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ค่ะ ทุกอย่างจะเป็นการสนทนา หรือการอ่าน หรือการไตร่ตรองก็ได้ แต่ให้ทราบว่า “คำ” มาจาก “เสียง” ถ้าไม่มีเสียงแล้ว คำจะไม่มีเลย ใช่ไหมคะ นั่งเงียบๆ อย่างนี้ เพียงแต่มองเห็นสีต่างๆ แต่ไม่มีคำ เพราะไม่มีเสียง แต่เวลาที่นึกถึงคำหนึ่งคำใดก็ตาม เป็นการจำเสียงที่มีความหมาย อย่างคำว่า “พรุ่งนี้วันศุกร์” มีเสียงไหมคะ ที่จำได้ว่า พรุ่งนี้วันศุกร์ ต้องมีเสียง
เพราะฉะนั้นการฟัง หรือการอ่าน ก็ไม่พ้นจากการจำเสียงซึ่งแสดงความหมายของสิ่งนั้นให้เข้าใจถูกต้อง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงพระธรรม นั่งเฉยๆ ไม่มีเสียงเลยจากพระโอษฐ์ ไม่มีคำใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่มีใครสามารถเข้าใจธรรมได้เลย แต่เมื่อได้ฟังแล้วจำ แล้วก็เขียน จารึกไว้ ก็ยังคงเป็น “คำ” จากเสียงที่ได้จำไว้แล้วก็เข้าใจความหมายนั่นเอง
เพราะฉะนั้นจะใช้คำว่า “ฟัง” หรือ “อ่าน” หรือ “สนทนา” อะไรก็ได้ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจถูก ความเข้าใจถูกที่เป็นปัญญานั้นคือเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน และให้ประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า แท้ที่จริงแล้วเหมือนกำมือที่ว่างเปล่า คือ พิจารณาแล้วไม่มีอะไรที่เป็นเรา หรือเป็นของเราจริงๆ