ต้องมีปัญญารู้ว่าเป็นอกุศล
ผู้ฟัง คำว่า “ทำความดี” ในหลักของพระพุทธศาสนา คือทำอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ กุศลกรรมบถ ๑๐ ทาน ศีล ภาวนา
ผู้ฟัง หมายความว่า เริ่มตั้งแต่มีการบริจาค คือ การให้ทาน แล้วก็อุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำแล้วให้กับบุคคลที่เป็นที่เคารพรัก แล้วเวลาที่เห็นผู้อื่นกระทำความดีหรือทำกุศล ก็ให้มีจิตยินดี และอนุโมทนาไปด้วย อย่างนั้นใช่ไหมครับ โดยความเป็นจริงแล้ว เรื่องการอนุโมทนาในความดีของผู้อื่น ก็ยังมีข้อยกเว้น ถ้าเป็นคนที่เราชอบ หรือเป็นคนที่เรารัก เราพอใจ รู้สึกการยินดีหรืออนุโมทนาไม่ยาก แต่ถ้าเป็นคนที่เราไม่ชอบ หรือเป็นคนที่เราเกลียดหมั่นไส้ ถึงแม้จะมีคนมาบอกว่า คนนั้นเขาเสียสละ เขาได้บริจาคทำประโยชน์แล้ว โดยส่วนลึกหรือใจจริงๆ ไม่ยินดีด้วยเลย
ท่านอาจารย์ ก็แปลว่าขณะนั้นไม่เป็นกุศล ขณะที่ไม่ยินดีด้วย ขณะนั้นไม่ใช่กุศล
ผู้ฟัง จะมีคำแนะนำอย่างไรบ้างที่พอจะช่วยให้เกิดประโยชน์ได้ครับ
ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีปัญญา รู้ว่าเป็นอกุศล
ผู้ฟัง แต่ว่าเกิดไปแล้วนี่ครับ
ท่านอาจารย์ เกิดไปแล้วก็แล้วไป สิ่งที่แล้วไปแล้ว ก็ไม่ต้องคำนึงถึง
ผู้ฟัง เพราะปกติแล้วก็เป็นสิ่งที่เรามักจะเลือก เช่น เราจะช่วยเหลือสงเคราะห์ ก็มักจะช่วยคนที่เรารัก เราพอใจ เราถึงจะทำ แต่ถ้าเราไม่ชอบ ไม่รัก เราก็อาจจะมองผ่านๆ ไป จริงแล้วการช่วยเหลือสงเคราะห์ไม่น่าจะเลือกเฉพาะคนที่เราชอบ แม้คนไม่ชอบก็ควรจะทำด้วย อย่างนี้จะถือว่า “ทำความดี” ได้ไหมครับ
ท่านอาจารย์ นี่ปัญญาก็เริ่มเกิดที่จะเห็นว่า ที่จะเห็นว่าควรอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าปัญญามั่นคงขึ้นก็จะทำตามนั้นได้มากขึ้น เพราะว่าก่อนอื่นก็ต้องเห็นว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดควร แล้วก็ค่อยๆ กระทำไป สะสมไปในสิ่งที่ถูกที่ควร
ผู้ฟัง แต่ก็เป็นสิ่งที่ยากมากครับ
ท่านอาจารย์ คนที่จะเป็นพระอริยบุคคล ก่อนเป็นพระอริยบุคคลก็มีกิเลสกันทั้งนั้น แต่ว่าท่านอบรม ท่านสะสมเจริญได้