การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา
เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้ว่า ปัญญาของเราก่อนฟังธรรม เกือบจะเรียกได้ว่า ไม่มี เพราะเหตุว่าตรงกันข้ามกับที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แม้แต่คำที่ตรัสว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” เราก็เคยได้ยินคำนี้บ่อยๆ “อนัตตา” เป็นภาษาบาลี ตรงกันข้ามกับคำว่า “อัตตา” ถ้าอัตตาก็หมายความว่า ตัวตน “เรา” ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เป็นเรา เป็นของเรา ตาของเรา ผมของเรา ทุกอย่างของเราหมด แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” คือ ไม่ใช่ของเราเลยสักอย่างเดียว ไม่มีอะไรเลยที่เป็นของเรา เราเกิดมามีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด ตั้งแต่เกิดทุกๆ ขณะ โดยเมื่อมีการเห็น เราก็ไม่เคยมานั่งคิดว่า ที่จริงแล้วทำไมถึงต้องเห็น ถ้าไม่มีจักขุปสาท คือ ประสาทตาที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ สีสันวัณณะต่างๆ โลกนี้ก็จะไม่ปรากฏเป็นความสว่าง ก็จะเป็นโลกที่มืด เหมือนคนที่ตาบอด
เพราะฉะนั้นแม้แต่เห็นก็ต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น และไม่ได้เห็นตลอดไป เห็นแล้วก็หมดไป แล้วก็คิดนึกเรื่องอื่น แล้วก็ได้ยินบ้าง แล้วก็กระทบสิ่งที่อ่อนที่แข็งบ้าง นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เห็นในขณะนี้ก็ไม่เที่ยง
เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เกิด เกิดแล้วก็ดับไป ตรงกับที่เราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ คือ ไตรลักษณ์ หรือไตรลักษณะ ลักษณะ ๓ อย่าง คือ เกิด สิ่งใดที่เกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องดับ ลักษณะที่เกิดดับนั้นไม่น่าพอใจเลย คือ ไม่ยั่งยืน การดับนี่ดับเร็วมาก จนกระทั่งเราไม่รู้สึก
นี่คือต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์แจ้งการเกิดดับ ถึงจะเห็นได้ว่า มีการเกิดดับจริงๆ ในขณะนี้ แต่ถ้าใครยังไม่อบรมปัญญาถึงขั้นนี้ ไม่มีทางละความเป็นตัวตน ก็ยังเห็นว่าเป็นเราเห็น เวลานี้เห็นอยู่ ไม่แสดงว่าดับเลย เพราะฉะนั้นก็ต้องมีเรา
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรานั้นลึกมาก เพียงขั้นฟังกว่าจะค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นความจริงอย่างนั้น ก็เพียงขั้นเข้าใจ ยังไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง