ธรรมที่เหนือโลก
เพราะฉะนั้นมีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามกับโลก หรือเหนือโลก คือ โลกุตตระ ได้แก่พระนิพพาน ซึ่งเวลานี้ไม่ได้ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลย
เพราะฉะนั้นเรามักได้ยินเสมอ คือ นิพพาน และบางคนพอได้ยินปุ๊บก็อยากไป เหมือนกับสถานที่สักแห่งหนึ่งซึ่งน่าไปเหลือเกิน แต่ตามความเป็นจริงแล้วตราบใดที่ยังไม่รู้จัก หรือยังไม่เข้าใจคำนี้ หรือความหมายอันแท้จริง อย่าอยาก เพราะเหตุว่าขณะนั้นจะเป็นอกุศล เป็นความติดข้อง เป็นความต้องการ ไม่ใช่เป็นความรู้จริงๆ ที่เห็นสภาพธรรมที่ต่างกันว่า สิ่งใดที่เกิดแล้วดับไป ไม่มีใครไปบังคับบัญชายับยั้งได้ และสิ่งนั้นก็ไม่ใช่ของเราด้วย
เพราะฉะนั้นจะไปติดข้องยึดมั่นในสิ่งนั้นทำไม ในเมื่อถึงแม้เราจะไปติดข้องสักเท่าไร ก็ไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเปรียบเทียบเห็นความต่างกัน เหมือนสีขาวกับสีดำ หรือความร้อนกับความเย็น คือ โลกเป็นสภาพที่เกิดดับ ส่วนสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเหนือโลกนั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิด เพราะฉะนั้นจึงไม่ดับ และไม่เป็นทุกข์
นี่กว่าจะเข้าใจพระธรรมได้ ก็จะเห็นได้ว่า ต้องฟังจริงๆ ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น วันนี้อาจจะรู้สึกว่า ยังไม่ค่อยเข้าใจมาก แต่ก็ยังเห็นว่า พระพุทธศาสนา คือ คำสอนเรื่องสิ่งที่มีจริง ให้เข้าใจโดยละเอียด โดยแจ่มแจ้ง ไม่ใช่เพียงคิดๆ เอา หรือนิดๆ หน่อยๆ แล้วพยายามไปดับกิเลส หรือพยายามให้เกิดความสงบสบาย แต่ไม่รู้ความจริงของธรรม นั่นก็ไม่สามารถดับกิเลสได้