ชั่วก็เป็นธรรม ละชั่วก็เป็นธรรม


    พุทธะทรงแสดงธรรม เพราะฉะนั้นให้ผู้ฟัง ขั้นต้นที่สุด มีความเข้าใจว่า เป็นธรรม เมื่อมีความเข้าใจธรรม จึงกล่าวอย่างที่คุณเผชิญกล่าว ใช่ไหมคะ อกุศลมากเหลือเกิน เป็นธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดี เพราะรู้ว่าเป็นธรรม ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ ต้องมีความเข้าใจลึกลงไปถึงว่า ไม่ใช่ว่าเรามีอกุศล แต่อกุศลสะสมมามาก ประเภทต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้นพระธรรมทั้งหมด ทั้งพระวินัย ตลอด ๔๕ พรรษา ไม่ใช่สอนให้เป็นคนดี ละทุจริต แต่ต้องเข้าใจธรรม จึงจะเห็นว่า “เรา” หรือที่เคย “เป็นเรา” เป็นอกุศลระดับไหน ให้รู้จักธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นธรรมฝ่ายอกุศลที่สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นแม้แต่โอวาทปาติโมกข์ ละชั่ว ถ้าไม่รู้ว่าเป็นธรรม เป็นเราละ พระพุทธเจ้าจะสอนให้เราละหรือ หรือให้เข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม เพราะการละชั่ว ไม่ได้มีแต่เฉพาะคำสอนของพระบรมศาสดาพระองค์เดียว ทุกแห่งที่มีศาสดาแต่ละศาสดาก็ไม่ได้สอนให้ใครทำชั่ว แต่สอนให้ละชั่ว

    เพราะฉะนั้นต่างกันอย่างไรระหว่างผู้ที่ละชั่ว และได้ฟังธรรม กับผู้ที่ละชั่ว แต่ไม่ได้เข้าใจธรรมเลย

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ละชั่ว เหมือนกันหมด คือ ละชั่ว แต่ต่างที่เข้าใจว่า ชั่วเป็นธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้นทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าดีหรือชั่ว ก็เป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ให้เข้าใจถึงความจริงว่า จะพูดว่า “ชั่ว” ก็คือธรรม จะพูดว่า “ละชั่ว” ก็คือธรรม ต้องมีความเข้าใจด้วยว่าเป็นธรรม จึงจะเป็นคำสอนของผู้รู้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เผินๆ นี่ไง บอกให้ทำความดี เท่านั้นหรือคะ ใครก็บอกให้ทำความดีได้ พ่อแม่พี่น้องครูอาจารย์ ก็รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดดี ก็สอนให้ทำดี แล้วเป็นธรรมหรือ หรือเข้าใจธรรมหรือ หรือจะต่างกับคำสอนของศาสดาอื่นอย่างไร หรือจะต่างจากคำสอนของครูบาอาจารย์คนไหนอย่างไร

    นี่คือไม่รู้จักความเป็น “พุทธะ” ว่า ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม หรือธรรมวินัย ก็คือสอนให้เข้าใจว่าเป็นธรรม แล้วให้เห็นความหลากหลายของธรรมมากมาย ซึ่งไม่ใช่เรา อกุศลทั้งหลายไม่ใช่เรา ให้รู้ว่าเป็นธรรม แม้แต่ละ ก็ต้องรู้ว่าเป็นการเห็นโทษของอกุศล แล้วรู้ด้วยว่า ละ ไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา แต่ด้วยการสะสมกุศลเพิ่มขึ้นจนสามารถเข้าใจ จนกระทั่งชำระจิตให้บริสุทธิ์ได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ถึง เพียงแค่ละทุจริต ละชั่ว แล้วก็ทำความดี โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม แต่ทีนี้ความต่างของพุทธศาสนิกชนหรือพุทธบริษัท ก็คือ เข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม แม้แต่ในขณะที่อกุศลเกิด หรือในขณะที่ละอกุศลก็เป็นธรรม


    หมายเลข 8056
    19 ก.พ. 2567