สภาพจิตที่ต่างกันของการให้


    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อเราแกงสักหม้อหนึ่งมื้อเย็น แล้วตักไปทานแล้วถ้วยหนึ่ง แล้วตอนเช้าเอามาอุ่น สามารถตักใส่บาตรได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ เรื่องของทานยังมีทานที่ประณีตกับทานที่ไม่ประณีตด้วย และการให้โดยเคารพ กับการให้โดยไม่เคารพ

    เพราะฉะนั้นก็มีความละเอียดมาก แต่ว่าก็เป็นสภาพของจิตใจ คือว่าบางคนก็มีความเคารพนอบน้อมมาก จะทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับพระภิกษุแล้วทำอย่างประณีตจริงๆ ประณีตกว่าที่เราบริโภคเอง แล้วก็จัดเตรียมอย่างที่ว่า คือ แบ่งเอาไว้ด้วยความเคารพอย่างยิ่งที่จะถวายพระ สำหรับบางคนก็อะไรก็ได้ หรือเมื่อมีกุศลจิตก็ทำไป ก็ยังดีกว่าไม่ทำ เพราะว่าการให้ ให้โดยเคารพ โดยประณีตมี ให้โดยไม่เคารพ หรือไม่ประณีตเท่ากับที่ควรจะเป็นก็มี อย่างบางคนให้ขอทาน อาจจะโยน หรือทิ้ง หรือให้โดยไม่แสดงว่าให้ด้วยน้ำใจ ถ้าให้ด้วยน้ำใจ เราอาจจะคิดว่า เขาคงสบายใจ ถ้าได้รับด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส หรือด้วยไมตรีจิต ถึงแม้จะไม่พูด แต่ด้วยกิริยาอาการที่แสดงออกก็มีความเป็นมิตร คือ ความเป็นเพื่อนเราจะรู้ได้เลยว่า มีคุณค่ามหาศาล

    ถ้าเราคิดถึงคำว่า “เมตตา” ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่า “มิตตะ” หรือ “มิตร” คือความหวังประโยชน์แก่คนอื่น หวังดีเกื้อกูลต่อคนอื่น คนที่เรานับว่าเป็นเพื่อน คือคนที่หวังดีต่อเรา คิดถึงที่จะเกื้อกูลเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากทีเดียว แม้แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงเป็นกัลยาณมิตรของพุทธบริษัท ความหมายว่าเป็นผู้ที่ไม่หวังร้ายเลยต่อใครทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นผู้มีไมตรีจิตหรือมีความเป็นมิตรซึ่งกว้างใหญ่ ไม่ใช่แต่เฉพาะในคนสองคน ในพวกของเรา แต่ที่ว่า “เจริญเมตตา” ไม่ใช่ไปท่องกันยิ่งมากเท่าไรยิ่งดี ไม่ใช่ค่ะ แต่หมายความว่า ยิ่งพบบุคคลแล้วความเป็นมิตรของเราเกิดอย่างจริงใจมากเท่าไร นั่นคือการเจริญเมตตาจริงๆ คือ ความเป็นมิตรที่แท้จริง แม้แต่กับคนขอทาน เราก็สามารถมีความเป็นเพื่อนได้ คือ ไม่รังเกียจ ไม่ดูหมิ่น หรือไม่เกิดความมานะสำคัญตนว่า เราเป็นผู้ให้ ขณะนั้นจิตของเราก็ผ่องใส

    เพราะฉะนั้นการให้ก็จะมีโดยสภาพของจิตซึ่งประณีตหรือว่าขัดเกลา หรือว่าละเอียดขึ้น แม้แต่การที่จะให้กับพระภิกษุก็เช่นเดียวกัน บางคนก็ทำอย่างประณีต คือ แบ่งไว้ จัดอย่างเรียบร้อย บางคนก็อะไรก็ได้ก็ทำไป การให้ก็คือการให้ แต่เมื่อการให้นั้นเกิดแล้ว ก็แล้วแต่สภาพของจิตใจว่า จะเป็นจิตใจประเภทไหนที่ให้ด้วย

    เพราะฉะนั้นกุศลจิตจึงมีอย่างประณีต และอย่างปานกลาง และอย่างอ่อน

    ผู้ฟัง สรุปแล้วคือเป็นความประณีตของการให้

    ท่านอาจารย์ แล้วเราใจของเราประณีตขึ้น และข้อสำคัญที่สุดคือไม่หวังผล

    นี่สำคัญมาก เพราะว่าถ้าเราหวังผล เหมือนมือขวาเราให้ไป มือซ้ายเราแบรับกลับคืน ก็ไม่เหมือนการให้จริงๆ ให้แบบนี้ไม่เรียกว่า ให้ ให้ก็คือให้


    หมายเลข 8060
    24 ส.ค. 2567