สังฆทาน ๓
ผู้ฟัง บังเอิญเช้าวันหนึ่งใส่บาตร ภิกษุรูปหนึ่งแนะผมว่า ทุกครั้งที่ใส่บาตร ควรใส่ ๔ องค์ขึ้นไป จึงเป็นสังฆทาน อยู่ในกฎเกณฑ์ด้วยหรือ
ท่านอาจารย์ ไม่มีค่ะ ในพระไตรปิฎกไม่ได้บอกอย่างนั้น
ผู้ฟัง นี่พระสงฆ์เป็นผู้บอก
ท่านอาจารย์ จะเป็นใครก็ตาม พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้แล้ว แม้ผู้นั้นจะบอกว่าได้ฟังจากพระโอษฐ์ เราก็ต้องพิจารณา เพราะฉะนั้นพระธรรมที่เป็นพระไตรปิฎก อรรถกถา คำอธิบายยังมีอยู่ ให้เรารู้ว่า คำไหนเป็นคำจริงที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แต่คำที่ไม่มีจริงๆ ไปหาดูในนั้นไม่มีค่ะ เพราะเหตุว่าความจริงต้องเป็นจริง
ผู้ฟัง ก็หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องมีกี่รูป
ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น อยู่ที่สภาพจิตว่า เรามีความนอบน้อม
ผู้ฟัง ส่วนที่ว่า ๙ รูปคือเป็นเรื่องของชาวบ้าน
ท่านอาจารย์ ค่ะ บางคนก็ไม่กล้านิมนต์พระภิกษุ ๔ รูปไปที่บ้าน กลัวมาก เพราะเหตุว่าเวลาสวดพระอภิธรรมศพนิมนต์พระ ๔ รูป แต่ในพระไตรปิฎกมีอุบาสกที่นิมนต์พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุรวม ๔ รูปทั้งพระองค์ด้วย ไปรับภัตตาหาร จำนวนไม่ได้เกี่ยวอะไรเลย
เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เรางมงาย “งมงาย” คือไม่มีเหตุผล ที่เราจะตัดสินว่าอะไรงมงาย ก็คือว่าสิ่งนั้นไม่มีเหตุผลเลย ถ้าเราจะให้พระภิกษุรูปหนึ่ง จิตเราเป็นกุศล ถ้าเราจะให้พระภิกษุ ๒ รูป จิตเราก็เป็นกุศล ถ้าเราจะให้พระภิกษุ ๓ รูป จิตเราก็เป็นกุศล ทำไมต้อง ๙ รูปถึงจะเป็นกุศลคะ ไม่มีเหตุผลเลย นอกจากความเชื่อ
ผู้ฟัง ข้อนั้นเข้าใจ ชาวบ้านถือว่าเป็นมงคล
ท่านอาจารย์ “มงคล” คืออะไรคะ มงคลมี ๒ อย่าง คือ มงคลจริงๆ กับมงคลตื่นข่าว