ความต่างและความเหมือน


    ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า เจริญสติปัฏฐานเหมือนกับการเจริญวิปัสสนาไหมคะ ถ้าเหมือน เหมือนกันอย่างไร ถ้าไม่เหมือน ไม่เหมือนกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเข้าใจตั้งแต่คำว่า “สติ” เข้าใจคำว่า “ปัฏฐาน” เข้าใจ “วิปัสสนา” ถึงจะพูดได้ ถ้าไม่เข้าใจคำเหล่านี้ ก็พูดกันไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง คำตอบเหมือนกันหรือไม่เหมือนกันครับ

    ท่านอาจารย์ เหมือน แต่เหมือนคืออะไรก็ไม่รู้ เพราะยังไม่รู้ว่าคืออะไร ถ้าตอบคำเดียวว่าเหมือน แต่เหมือนอย่างไร อะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าเหมือน

    เพราะฉะนั้นถ้าใครเขาบอกว่า นี่คือสติปัฏฐาน ด้วยความไม่รู้ เราคิดว่าใช่สติปัฏฐาน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน พอเขาบอกว่าเหมือน ก็เหมือน

    เพราะฉะนั้นเพียงคำพูดไม่พอ ไม่ทำให้เข้าใจ ที่ท่านเคยอุปมาไว้ว่า เหมือนคนตาบอดที่แสวงหาผ้าขาว แล้วมีคนหนึ่งเอาผ้าดำไปให้คนตาบอด คนตาบอดก็ดีใจคิดว่าได้ผ้าขาว ผ่อง สะอาด ส่วนคนตาดีก็รู้ว่า คนตาบอดไม่ได้ผ้าขาว ได้ผ้าดำ แต่คนตาบอดไม่รู้ต่างหากว่า เขาได้ผ้าดำ ส่วนคนตาดีรู้ว่าคนนั้นไม่ได้ผ้าขาว

    เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนผู้รักษาคนตาบอดให้มองเห็นตามความเป็นจริง ให้รู้ว่า ผ้าขาวคืออย่างไร ผ้าดำคืออย่างไร ไม่ใช่เพียงแต่ตามๆ กันไป

    เพราะฉะนั้นถ้าจะตอบว่า เหมือน คนนั้นก็ยังไม่รู้อีก ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง คำถามที่ ๒ คำว่า “สติ” เฉยๆ ต่างจากการเจริญสติปัฏฐานอย่างไร

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เหมือนกัน ต้องเข้าใจคำว่า “สติ” ก่อน แล้วเข้าใจ “สติปัฏฐาน” ก่อน ไม่อย่างนั้นพอตอบว่าต่างอย่างไร ก็ยังไม่เข้าใจอีก เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจตามลำดับ

    วันนี้เข้าใจเรื่อง “โลก” หรือยัง วันนี้เข้าใจ “อารมณ์” หรือยัง วันนี้เข้าใจ “จิต” หรือยัง วันนี้เข้าใจ “เจตสิก” หรือยัง

    ถ้าเข้าใจ เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก ต้องค่อยๆ ขยับไปทีละน้อย แต่พอจะเดาได้ใช่ไหมคะ ถ้าไม่ได้ ต้องกลับมาหาความต่างกันของจิต และเจตสิก เพราะเหตุว่าเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน แต่ทำไมธรรมหนึ่งเป็นจิต ส่วนธรรมอื่นๆ เป็นเจตสิก มีสภาพความจริงแล้วต้องเป็นความจริง ซึ่งมีลักษณะที่สามารถจะค่อยๆ เข้าใจ และค่อยๆ พิสูจน์ได้

    ผู้ฟัง จากคำถามตอนแรกที่ผมได้เรียนถามท่านอาจารย์ถึงลักษณะที่ต่างกัน ขอคำจำกัดความของท่านอาจารย์ว่า ลักษณะของสติต่างกับความคิด

    ท่านอาจารย์ สติคิดก็ได้ คิดด้วยสติก็ได้ เป็นกุศลได้ สติจำไว้ได้อย่างเดียวว่า สติเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีที่เป็นคุณธรรม เพราะฉะนั้นสติต้องเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในภาวนา “ภาวนา” ทีนี้ไม่ใช่ท่องบ่น ภาวนาที่นี่คือการอบรมจิตให้ปราศจากอกุศล หรือว่าให้ปัญญาเจริญขึ้น

    ผู้ฟัง หมายความว่า สติก็คิดได้ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ คิดที่จิตเป็นกุศลจิต ก็ต้องมีสติเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ส่วนคิดเฉยๆ ที่ไม่ประกอบด้วยสติ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่คิดด้วยโลภะ โลภะคิด หรือโทสะคิด หรือกุศลจิตคิด ถ้ากุศลจิตคิด ก็มีสติเกิดร่วมด้วยทุกครั้งที่เป็นกุศล

    ผู้ฟัง เช่น ยกตัวอย่างหน่อยครับ

    ท่านอาจารย์ คิดให้ทานหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง เพียงแค่คิดเฉยๆ แต่ทานนั้นยังไม่สำเร็จ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคิดเป็นกุศลหรือเปล่า ขณะนั้นเป็นสติที่ระลึกเป็นไปในทาน


    Tag  ศุกล  
    หมายเลข 8068
    24 ส.ค. 2567