จิตคือสภาพรู้ทั้งหมด
ท่านอาจารย์ เรื่องจิตไม่ทราบชัดหรือยังคะ
ผู้ฟัง ยังไม่รู้เรื่อง
ท่านอาจารย์ ค่ะ ขณะนี้ที่เรากำลังนั่งอยู่ที่นี่ เราไม่ได้มีแต่รูป เรามีใจด้วย เราถึงนั่งอยู่ที่นี่ ถ้าเป็นคนตายแล้วมีแต่รูป ใจไม่มี จึงชื่อว่าเป็นคนตาย เพราะว่าคนตายไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึก ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นอาการคิด อาการนึก อาการสุข อาการทุกข์ อาการเห็น อาการได้ยินมีจริงๆ แล้วไม่ใช่รูปด้วย อย่างตาไม่เห็น ตาเป็นแต่เพียงทางที่จะทำให้จิตเห็นสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบตา หรือหู ตัวหูเองไม่ได้ยิน แต่เป็นทางทำให้จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง
เพราะฉะนั้นต้องแยกจิตออกจากรูปว่า รูปไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ง่วง ไม่หิว รูปแข็ง รูปอ่อน รูปหวาน รูปเค็ม รูปร้อน พวกนี้เป็นรูป แต่ว่านามธรรมเป็นสภาพรู้อ่อน รู้ร้อน รู้เย็น รู้หวาน รู้เปรี้ยว นามธรรมที่นี้มองไม่เห็นเลย แต่หมายความถึงสิ่งที่มีจริง ที่ไม่มีรูปร่าง แล้วเราใช้คำว่า “จิต” เพราะว่าเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการเห็นบ้าง การได้ยินบ้าง
อันนี้เข้าใจเรื่องจิตแล้วใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ดีมากเลย คือ ธรรมต้องเป็นเรื่องช้าๆ และเป็นเรื่องละเอียด และควรไปพร้อมๆ กัน ให้เข้าใจกันจริงๆ
ถ้าไม่เรียก “จิต” เรียก “เห็น” มีไหมคะ มีนะคะ ถ้าไม่เรียก “จิต” เรียก “ปวดเมื่อย” มีไหมคะ มี ปวดเมื่อยนี่ร่างกายปวดเมื่อย หรือร่างกายไม่รู้อะไร แล้วปวดเมื่อยเป็นอีกอย่างหนึ่งซึ่งอาศัยร่างกายจึงได้ปวดเมื่อย ถ้าไม่มีรูป จะไม่ปวดเมื่อยเลย ใช่ไหมคะ แต่รูปนี่แค่อ่อน แค่แข็ง เพราะฉะนั้นปวดเมื่อยไม่ใช่อ่อน ไม่ใช่แข็ง ปวดเมื่อยมีจริง ไม่ใช่อ่อน ไม่ใช่แข็ง และปวดนี่เจ็บ เมื่อยก็ไม่สบาย คันก็ไม่สบาย พวกนี้เป็นลักษณะอาการของความไม่สบายกาย
เพราะฉะนั้นถ้ามีกาย จะมีการรู้สิ่งที่กระทบกาย เวลานี้เราไม่รู้ว่า ทั่วทั้งตัวของเรามีกายปสาทซึมซาบอยู่ทั้งข้างในข้างนอก ถ้ากระทบส่วนที่ร้อน จะรู้สึกไม่สบายกายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหรืออาการอะไรก็ตามแต่ เป็นธาตุต่างชนิด ขณะนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง จะใช้คำว่า “จิต” ก็ได้ จิตรู้สิ่งที่กระทบกาย และเกิดความปวดขึ้น
ผู้ฟัง ...
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เวลาปวดนี่เห็นได้ชัดเลย ถ้าสัมผัสตรงที่ปวดจะอ่อนหรือจะแข็ง ตรงที่ปวดจะมีอ่อนหรือแข็ง แต่ความปวดนั้นไม่ใช่อ่อนหรือไม่ใช่แข็ง แต่อยู่ตรงอ่อนตรงแข็งที่ปวด เพราะฉะนั้นความปวดไม่ใช่ตรงอ่อนตรงแข็ง อ่อนก็อ่อน แข็งก็แข็ง ปวดก็ปวด ต้องแยกกัน
ผู้ฟัง อย่างเราเห็นถ้วยแก้ว ไม่รู้ว่าอ่อนหรือแข็ง ต้องสัมผัส
ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ ต้องสัมผัส เพราะฉะนั้นขณะที่รู้แข็ง ขณะนั้นสภาพรู้แข็งเขามี เขาถึงบอกได้ว่าแข็ง อาการรู้นั้นคือจิต
นี่ต้องแยกร่างกายออกจากจิตใจ เป็นจิตที่รู้ รู้สารพัดรู้ รู้ไปหมดเลย จิตรู้ทุกอย่างเลย
ผู้ฟัง แล้วเจตสิกละครับ
ท่านอาจารย์ เอาจิตก่อนนะคะ มีใครบ้างที่ยังสงสัยเรื่องจิตอยู่ หรือยังไม่แน่ใจเรื่องจิต