ขุ่นใจเพียงเล็กน้อยก็เป็นโทสะ


    ผู้ฟัง บางครั้งที่เราดุหรือว่าใครสักคนในสายงาน แต่เราไม่โกรธที่เราต้องเตือนต้องว่า เป็นไปได้ไหมว่า จิตคือตัวของเรานี่เฉยๆ

    ท่านอาจารย์ เราอาจจะว่าเราเฉย แต่ความจริงเราต้องมีความขุ่นเคือง ขุ่นใจนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง เราไม่ได้ขุ่นเคือง แต่เขาทำผิด เราบอกเขาว่า นี่ผิดนะ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจค่ะ

    ผู้ฟัง แต่จิตเราเฉยๆ เสียงเราอาจจะดัง หรือกิริยาเราดูดุ แต่จริงๆ แล้วจิตเราเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ ความจริงจิตเกิดดับเร็วมาก แล้วสลับกันด้วย เพราะฉะนั้นต้องอาศัยสติสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวจริงๆ ที่จะรู้ลักษณะของจิตซึ่งเกิดดับเร็ว และวิธีที่จะรู้ว่าเป็นโทสะหรือไม่ใช่โทสะ เพราะว่าภาษาไทยเราใช้ภาษาบาลีตามใช้ชอบ หรือตามที่ได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก พอใช้คำว่า “โทสะ” เรารู้สึกว่า ต้องแรงมาก ต้องมีอาการดุร้ายขึ้นมา พวกนั้นเป็นเจ้าโทสะ แต่คำว่า “โทสะ” เป็นสภาพของธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต สภาพธรรมอื่นที่ไม่ใช่จิต แต่เกิดกับจิต สภาพธรรมนั้นเราเรียกว่า “เจตสิก”

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า สภาพธรรมอื่นที่ไม่ใช่จิต และเกิดกับจิตเป็นเจตสิกทั้งหมด เหมือนอย่างกับโทสะที่แรง เราเห็น จิตบางทีก็ไม่เกิดโทสะ บางทีก็เกิดโทสะ เพราะฉะนั้นแล้วแต่เจตสิกประเภทใดจะเกิดกับจิตในขณะนั้น ถ้าขณะนั้นโทสเจตสิกเกิดกับจิต อาการของจิตนั้นจะเป็น “โทสมูลจิต” เราเติมคำว่า “มูล” แปลว่า เหตุ เพราะฉะนั้นจิตนั้นมีโทสะเป็นมูล หรือเป็นเหตุเกิดร่วมกัน จึงทำให้สภาพของจิตหยาบกระด้าง เพราะเหตุว่ามีเจตสิกชนิดนั้นเกิดร่วมด้วย

    ธรรมดาจิตเป็นแต่เพียงสภาพรู้ อาการเห็น อาการได้ยิน แต่เวลาที่มีเจตสิกที่ไม่ดีเกิดร่วมด้วย จิตขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตทันที ตามเจตสิกที่ไม่ดีที่เกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เราขุ่นใจ อย่างเวลาที่เห็นฝุ่นในบ้าน นิดเดียวที่โทรศัพท์ เป็นอย่างไรคะ สบายไหมคะ ถ้าเราเห็นเป็นฝุ่น เราก็รู้สึกขุ่นนิดๆ ตามจำนวนของฝุ่น ถ้าฝุ่นนิดเดียว โทสะเราก็น้อย ก็ขุ่นนิดหนึ่ง แต่ถ้าฝุ่นมาก คิดดูว่า โทสะนี่บังคับไม่ได้ เป็นอนัตตา ทันทีที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ โทสะเกิด ทันทีที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ โทสะเกิด ทันทีที่ได้กลิ่นที่ไม่น่าพอใจ โทสะเกิด เพราะว่าเป็นธรรมชาติ หรือธรรมดาว่า เมื่ออารมณ์ที่กำลังปรากฏนั้นไม่น่าพอใจแล้ว จะมาดับจิตใจให้เราเกิดชอบ เกิดติดข้อง ก็เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ความรู้สึกไม่สบายใจนิดเดียว น้อยที่สุด ขณะนั้นก็เป็นโทสะแล้ว ที่ถามว่า ดุคน หรือติเตียนคนก็ตามในสายงาน แล้วใจเฉยๆ ก็ต้องเป็นคนที่ละเอียดเพิ่มขึ้นที่จะรู้ว่า “เฉย” แบบไหน แบบไม่แสดงออกไป แต่ใจก็ยังไม่พอใจในผลงานนั้น ถ้ามีความไม่พอใจในผลงาน ขณะนั้นความไม่พอใจไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ใคร แต่เป็นธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น และทำหน้าที่นั้น

    เพราะฉะนั้นในขณะนั้นเราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เราต้องมีความขุ่นใจ ไม่พอใจ จะน้อยจะมากก็ตามแต่ เพราะว่าคนที่จะไม่มีโทสะ หรือความขุ่นเคืองใจเลย ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคลซึ่งอีกขั้นเดียวจะเป็นพระอรหันต์


    หมายเลข 8090
    24 ส.ค. 2567