เจตสิกต้องเกิดกับจิต
ผู้ฟัง จิตกับเจตสิก
ท่านอาจารย์ กับรูป ก็เป็นธรรม มี ๓ อย่าง แล้วทางธรรมจะใช้ศัพท์อีกศัพท์หนึ่ง คือ “ปรมัตถธรรม” มาจากคำว่า “ปรม” หรือ “บรม” ที่เราใช้คำว่า “ใหญ่” หมายความว่า ธรรมที่เป็นใหญ่ คือ ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงธรรมได้เลย เช่น ลักษณะที่แข็ง ใครจะทำให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ ลักษณะแข็งเป็นลักษณะแข็ง แล้วก็เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง กลิ่นจะหอม รสจะหวาน ก็เป็นธรรมที่ใครจะไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
น้ำตาลเป็นธรรมหรือเปล่าคะ ถ้าพูดถึง “หวาน” ก็เป็นธรรม เป็นรสใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง น้ำตาลเป็นชื่อ
ท่านอาจารย์ น้ำตาลเป็นชื่อ แต่รสหวานเป็นปรมัตถธรรม
ปลามีจิตไหมคะ
ผู้ฟัง มีครับ
ท่านอาจารย์ มีเจตสิกไหมคะ
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ต้องมั่นใจว่า ที่ใดที่มีจิต ที่นั่นต้องมีเจตสิก จิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน จะมีจิตโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ จะมีเจตสิกโดยไม่มีจิตไม่ได้ จิตกับเจตสิกอันหนึ่งอันเดียวกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน ถ้าพูดถึงจิต เราละเจตสิกไว้ในที่เข้าใจ แต่หมายความว่า ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตขณะหนึ่งจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท ๗ ชนิด กำลังเห็นที่เห็นมีเจตสิกเกิดร่วมกับจิต ๗ ชนิด กำลังได้ยินก็มีเจตสิกเกิดกับจิต ๗ ชนิด
ผู้ฟัง มีอะไรบ้าง
ท่านอาจารย์ เวทนา ความรู้สึก ต้องมี ที่ใช้คำว่า “ความรู้สึก” มี ๓ อย่าง คือ รู้สึกเป็นสุขอย่างหนึ่ง รู้สึกเป็นทุกข์อย่างหนึ่ง รู้สึกเฉยๆ อย่างหนึ่ง ความรู้สึกเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ภาษาบาลีใช้คำว่า “เวทนาเจตสิก”
เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า ใน ๗ เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกขณะมีอะไรบ้าง วันนี้ก็จำว่า มีเวทนาเจตสิก เพราะว่าทุกครั้งที่จิตเกิดจะต้องมีความรู้สึก เหมือนกับอะไรก็ตามมากระทบ พอกระทบแล้วเราต้องมีความรู้สึกทุกข์ หรือสุข หรือเฉยๆ
กำลังเห็น เฉพาะเห็น เฉยๆ เป็นเวทนาเจตสิก เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง ไม่มีเวทนาเจตสิกได้ไหมคะ เห็นเฉยๆ เปล่าๆ ไม่มีเวทนาเจตสิกได้ไหมคะ ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง เวทนาแปลว่าอะไร
ท่านอาจารย์ เวทนาแปลว่า เจตสิกที่รู้สึก เป็นความรู้สึก ซึ่งแต่ก่อนเราบอกว่า เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เป็นชีวิตประจำวัน บางขณะเราก็เกิดความทุกข์ คิดไปคิดมาก็เป็นทุกข์ ขณะนั้นก็คือสภาพของเจตสิกชนิดหนึ่งซึ่งรู้สึกเป็นทุกข์ แล้วรู้สึกเป็นสุข รู้สึกเฉยๆ และจิตจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ดวง หรือ ๗ ประเภท ประเภทหนึ่งซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกดวงก็คือความรู้สึก ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “เวทนาเจตสิก”
ถ้าไม่ได้เรียน เราคิดว่า “เวทนา” แปลว่า สงสาร ใช่ไหมคะ น่าเวทนา แล้วเราก็ออกเสียงว่า เวด – ทะ – นา แต่ภาษาบาลีต้องออกเสียงว่า เว – ทะ – นา เจตสิก หมายความถึงเจตสิกซึ่งรู้สึก ขณะใดที่รู้สึก ขณะนั้นไม่ใช่จิต แต่เป็นเวทนาเจตสิก และต้องเกิดกับจิต เจตสิกจะเกิดกับอย่างอื่นไม่ได้เลย เกิดได้เฉพาะกับจิตเท่านั้น
ผู้ฟัง จิตเป็นหัวใจหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ในการเห็น ในการได้ยิน
ผู้ฟัง ไม่ใช่สมองหรือ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สมอง สมองเป็นรูป หัวใจเป็นรูป จิตไม่ใช่รูป จิตมองไม่เห็น แต่หัวใจมองเห็น สมองมองเห็น แต่จิตนี่มองไม่เห็น