เจตสิกหมายถึงนามธรรมที่เกิดกับจิต


    ผู้ฟัง มีความคิดคล้ายๆ กับว่า เจตสิกเป็นกิริยาจิตใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ เจตสิกไม่ใช่กิริยาจิตค่ะ เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต พูดอย่างนี้พอจะเข้าใจได้ไหมคะ อย่างโลภะ ความชอบ ความต้องการ ถ้าจิตไม่เห็น จะไปชอบอะไรได้ โลภะจะชอบอะไร ถ้าจิตไม่ได้ยินเสียง โลภะก็ชอบเสียงนั้นไม่ได้เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงพร้อมกับโลภเจตสิก ถ้าในขณะนั้นชอบเสียงหนึ่งเสียงใด ถ้าไม่ชอบเสียงที่ได้ยิน ขณะนั้นโทสเจตสิกก็เกิดกับจิต หลังจากที่จิตได้ยินดับไปแล้ว

    ผู้ฟัง คนละเรื่องเลยใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ มีปรมัตถธรรม ๔ คือ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑ ต้องแยกค่ะ ๔ อย่างนี่ปนกันไม่ได้เลย คือ จิตไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน เจตสิกไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน รูปไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่นิพพาน นิพพานก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป

    ต้องตั้งต้นที่ปรมัตถธรรม ๔ ถ้าไม่ตั้งต้นที่ ๔ แล้ว ไม่มีทางเข้าใจธรรมได้เลย และปรมัตถธรรม ๔ ก็จะไปแยกเป็นขันธ์ ๕ ไปแยกเป็นอริยสัจธรรม ๔ ไปแยกเป็นอินทรีย์ ไปแยกเป็นปฏิจจสมุปปาท ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรทั้งหมด จะพ้นจากปรมัตถธรรม ๔ ไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความเข้าใจเรื่องจิต เจตสิก รูป และเวลาพูดถึงธรรมหมวดใดก็ทราบได้ว่า พูดถึงจิต หรือพูดถึงเจตสิกประเภทใด หรือพูดถึงรูปชนิดไหน


    หมายเลข 8114
    24 ส.ค. 2567