ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ท่อง
ผู้ฟัง ที่อาจารย์ศุกลถามเกี่ยวกับเรื่องท่อง และท่านอาจารย์บอกไม่ต้องท่อง ผมรู้สึกสบายใจ ชอบ แต่พูดถึงเรื่องศึกษา ผมว่าจะต้องจำชื่อ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ศึกษาคือฟังให้เข้าใจ ถ้าจะอ่านก็ได้ เพราะเหตุว่าอ่านก็คือความจำเสียง เหมือนกับฟัง ใช่ไหมคะ ทุกครั้งที่เราอ่าน ไม่ว่าคำไหนทั้งสิ้น ต้องมีเสียง และการจำสัญญาเสียงนั่นเองทำให้เราเข้าใจความหมาย เพราะฉะนั้นจะฟังทางหู หรือจะอ่านทางตา หรืออะไรก็ได้ แต่หมายความว่าให้เข้าใจ นั่นคือการศึกษา ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่ชื่อว่าศึกษา
ผู้ฟัง ดังนั้นที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องท่อง ในเรื่องของเมตตาก็ตาม ในเรื่องของสังคหวัตถุอย่างที่อาจารย์ศุกลกล่าวเมื่อกี้นี้ ถ้าเผื่อจำไม่ได้ว่า ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา หรือพรหมวิหารต่างๆ เราต้องจำไว้ บางครั้งเราอาจมาพบอาจารย์ได้เพียงเดือนละครั้ง ถ้าเผื่อเราจะท่อง คงไม่เป็นอะไรนะครับ
ท่านอาจารย์ โดยมากคนมักจะถามว่า จะเป็นอะไรหรือเปล่า ไม่มีกฎเลย ตามอัธยาศัยจริงๆ สำหรับดิฉัน ดิฉันไม่ชอบท่อง อะไรๆ ก็ไม่ชอบจริงๆ จะให้ดิฉันไปสอบ มานั่งท่อง ดิฉันก็ไม่เอา คือ ไม่ต้องการอะไรที่จะได้จากการท่อง เพราะชื่อว่า “ท่อง” คือท่อง แต่ถ้าเข้าใจ ดิฉันยอมทุกอย่าง ไม่ว่าจะอ่าน จะฟัง จะคิด จะถาม ดิฉันก็ชอบ เพราะเหตุว่าทำให้เกิดความเข้าใจ แต่ถ้าเพียงท่องแล้วให้ดิฉันได้อะไรมาเพราะการท่อง ดิฉันไม่ต้องการเลย ไม่ต้องการไปท่องเพื่อได้ประกาศนียบัตร แต่ต้องการที่จะเข้าใจ แต่ถ้าจะพูดว่า ท่องแล้วจะเสียหายไหม ไม่เกี่ยว ความเสียหายไม่ได้มาจากท่อง หรือไม่ท่อง แต่มาจากเราท่องเพื่ออะไร ใช่ไหมคะ
ถ้าเราอยากเข้าใจพระธรรม เราอ่านบ่อยๆ จำได้แน่นอน แล้วขณะที่อ่านไตร่ตรองพิจารณาเห็นประโยชน์ ข้อสำคัญที่สุด คือ เห็นประโยชน์ เพราะว่าถ้าเราจำหัวข้อได้ สังคหวัตถุมี ๔ ทาน การให้ เป็นประโยชน์ในการสงเคราะห์ที่จะให้ทุกคนมีชีวิตประจำวันอย่างผาสุก นั่งท่องไป นอกจากนั้นก็ยังมีปิยวาจา คำพูดที่น่าฟัง เพราะว่าวันหนึ่งๆ ได้ยินแต่คำพูด เพราะฉะนั้นคำพูดไหนที่จะให้กำลังใจ ให้คนเกิดความสุขขึ้นก็ไปนั่งท่อง แล้วอัตถจริยา การประพฤติตนเป็นประโยชน์ ก็มานั่งท่องอีกว่า นั่น ๑ นี่ ๒ นั่น ๓ แล้วก็ยังมีสมานัตตตา การมีตนเสมอ นี่ ๔ จำหัวข้อนะคะ แต่ถ้าเรามีความเข้าใจ และเห็นประโยชน์จากการอ่าน แม้แต่ทาน การให้ ประโยชน์อยู่ที่ไหน ประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่หวังผล เพราะว่าบางคนมักจะทำอะไรโดยหวังผล
นี่อกุศลแบ่งครึ่ง คือ แทนที่จะเป็นกุศล อกุศลก็ติดตามมาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจคำว่า “ทาน” หรือการให้จริงๆ เราจะเป็นผู้ที่ให้โดยไม่หวังผลอะไรทั้งสิ้น อย่างนี้จะดีกว่าเราท่องสังคหวัตถุ ๔ เพื่อหวังว่าเราจะทำ แล้วเป็นกุศล แล้วเราจะได้กุศล แล้วเราจะได้รับผลของกุศล ถ้าอย่างนั้นการศึกษาธรรมก็ไม่มีประโยชน์ บอกได้เลยว่า เป็นการเพิ่มกิเลส เพราะว่าต้องการผลของการศึกษาธรรมที่เป็นลาภบ้าง ยศบ้าง สรรเสริญบ้าง หรือแม้แต่คำชมเชยว่าเก่ง จำได้ตั้ง ๔ ข้อ ก็ไม่มีประโยชน์
เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่า เราต้องมีจุดประสงค์ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าเราจะท่องกับการที่เราจะเข้าใจแล้วการเห็นประโยชน์ อย่าง ๔ ข้อวันนี้ ถ้าทุกคนซาบซึ้งไม่ต้องท่อง นึกได้เอง อย่างทาน การให้ แสนที่จะธรรมดาในชีวิตประจำวันของทุกคน ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกประเทศในโลก มีชีวิตอยู่ด้วยการสงเคราะห์กันด้วยการให้ จะให้อะไรก็แล้วแต่อย่างที่กล่าวถึง แม้แต่ให้ความรู้ ความสามารถที่เรามี ที่จะแบ่งปันให้คนอื่นเขา ถึงจะไม่ใช่วัตถุทาน ขณะนั้นจิตใจของเราก็สามารถสละสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับเรา และให้เป็นประโยชน์สำหรับคนอื่นด้วย อย่างนี้ต้องท่องไหมคะ เรื่องทานก็ไม่ต้องท่อง ถ้าเข้าใจจริงๆ
ปิยวาจา เห็นชัดเลยว่า คำพูดที่ให้กำลังใจคน หรือให้เขาเกิดความสบายใจ หรือเราอาจจะเป็นคนที่อาจจะใช้คำที่ไม่น่าฟัง พอพูดไปแล้วนึกขึ้นได้ว่า ถ้าเมื่อกี้ไม่พูดอย่างนั้น แต่พูดอีกอย่างหนึ่งก็จะดี ต่อไปเราก็มีการระมัดระวังที่จะมีปิยวาจา ไม่ต้องท่องอีกเหมือนกัน
แล้วอัตถจริยา ชื่อเป็นภาษาบาลี ก็ไม่ต้องไปท่องภาษาบาลี เพราะถ้าจำได้ก็ดี อัตถ คือ ผล หรือประโยชน์ จริยา คือ การกระทำ เพราะฉะนั้นการกระทำใดๆ ที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น แม้นิดแม้หน่อย หยิบของตกให้ ช่วยถือของหนัก หรือใครถามทางไปไหน ก็บอก พาเขาไปส่งที่ที่ต้องการจะไป อะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์ นี่เราก็ทำกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็ไม่ต้องท่องอีก ใช่ไหมคะ
แล้วสมานัตตตา ก็คือการที่มีตนเสมอจริงๆ อย่างที่กล่าวถึงในตอนต้น ก็ประพฤติปฏิบัติอบรมไปก็ไม่ต้องท่อง แต่ถ้าจะมารวบรวมว่า นี่เป็นสังคหวัตถุหมวด ๔ ถ้าใครพูดถึงเราก็รู้ เพราะเรากำลังประพฤติปฏิบัติอยู่ อย่างนี้ก็คงไม่ต้องท่องมั่งคะ