ภวังคจิต
ผู้ฟัง ขอเรียนถามเรื่องภวังคจิต อตีตภวังค์ ไม่ทราบว่าเกิดในแง่ไหน ตอนไหน
ท่านอาจารย์ อันนี้สำหรับคนอ่านหนังสือเรื่อง “ปรมัตถธรรมสังเขป” แล้ว จะรู้ว่า มีจิตปรมัตถ์ คือ สภาพรู้ ธาตุรู้ในขณะนี้ซึ่งทุกคนมี ที่ทุกคนบอกว่ามีจิต มีใจ หมายความถึงไม่ได้มีแต่รูปร่างกาย นี่เป็นความต่างกันระหว่างคนกับสิ่งของ อย่างโต๊ะ เก้าอี้เป็นแต่เพียงรูป ไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก เพราะฉะนั้นก็ไม่มีปฏิสนธิ ไม่มีภวังค์
เวลาที่เราใช้คำว่า “คนเกิด” ให้ทราบว่า ถ้าจิตไม่เกิด จะไม่มีคน ต้นไม้เกิดมาไม่มีจิต เพราะว่าต้นไม้ไม่ได้เกิดจากกรรม แต่ต้นไม้เกิดจากอุตุ ความเย็น ความร้อน ต้องรดน้ำ หรือต้องใส่ปุ๋ย หรือต้องมีอากาศที่เหมาะสม ก็ทำให้รูปหรือพืชเกิดขึ้นได้ เพราะว่ารูปนี้เกิดจากอุตุ ความเย็น ความร้อนได้ที่เราปลูก
เพราะฉะนั้นที่เรากล่าวว่า “คนเกิด” สัตว์เกิด นกเกิด ไก่เกิด หมายความว่าต้องมีจิตเกิด เพราะฉะนั้นจิตขณะแรกที่เกิด ชื่อว่า “ปฏิสนธิจิต” ต้องรู้ด้วยว่า ทำไมเราเรียกจิตนี้ขณะแรกว่า “ปฏิสนธิจิต” เพราะเหตุว่าทำกิจเกิดสืบต่อจากชาติก่อน ทันทีที่ชาติก่อนจุติจิตดับ หมายความว่าคนนั้นตายจากชาติก่อน ปฏิสนธิจิตของชาตินี้เกิดสืบต่อทันที ให้ทราบก่อนว่า หลังจากตายแล้วเกิดทันทีไม่มีระหว่างคั่นเลย เหมือนกับขณะนี้ ทุกๆ ขณะ จิตเห็นบ้าง จิตได้ยินบ้าง จิตคิดนึกบ้าง เกิดดับสืบต่อกันไม่มีระหว่างคั่นเลย
เพราะฉะนั้นจากจุติจิตของชาติก่อน เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิต คือ จิตขณะแรกของชาตินี้เกิดขึ้นขณะเดียวแล้วดับ จิตขณะต่อไปก็เกิดอีก เพราะเหตุว่าจิตจะต้องเกิดดับสืบต่อกัน เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตดับไป จิตขณะต่อไปทำภวังคกิจ ภวังคกิจหมายความถึงทำกิจดำรงภพชาติ เพราะเหตุว่าคำนี้มาจากภาษาบาลีว่า “ภว” หรือ “ภพ” ว กับ พ ใช้แทนกันได้ แล้วก็ อังค หรือองค์ หมายความถึงจิตขณะนี้ทำกิจดำรงภพชาติสืบต่อ แล้วภวังคจิตก็ดับ แล้วก็เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อเรื่อยๆ จนกว่าจะมีอารมณ์กระทบทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ในขณะที่เรากำลังเห็น ให้ทราบว่า ก่อนเห็นเป็นภวังคจิต และเมื่อมีตาก็มีสิ่งที่กระทบตา แล้วกระทบภวังคจิต ภวังคจิตที่มีรูปกระทบปสาทแล้วกระทบภวังค์นั้นชื่อว่า อตีตภวังค์ ภาษาไทยเราใช้ ตัว ด แทน ตัว ต เพราะฉะนั้นก็เป็นอดีต หมายความว่าภวังค์ที่เป็นอตีตภวังค์มีอารมณ์เดิมเหมือนกับภวังค์ซึ่งเกิดก่อนนั่นเอง ยังไม่เปลี่ยน ยังไม่เห็น ภวังคจิตเห็นไม่ได้ ได้ยินไม่ได้ ตราบใดที่ชื่อว่า ภวังคจิต หรือทำภวังคกิจ ก็จะดำรงภพชาติ แต่ให้รู้ว่ามีอารมณ์กระทบ เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า รูปที่กระทบมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นนับหลังจากอตีตภวังค์ไป ๑๗ ขณะ รูปนั้นต้องดับ
ที่เราคิดว่าเป็นรูปของเราเกิดมาไม่ดับเลย ไม่ถูก รูปของเราเกิดดับเร็วมาก เพียงแค่จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะเท่านั้น
ผู้ฟัง แล้วภวังคจิตมี ๓ ขณะหรือคะ อย่างที่อ่านเจอ มีภวังคจลนะ วิถีจิต แล้วก็ภวังคุปเฉทะ
ท่านอาจารย์ หมายความว่าก่อนจะเห็น ก่อนจะได้ยิน จิตกำลังเป็นภวังค์ และเมื่ออารมณ์กระทบ ก็กระทบอตีตภวังค์ และอตีตภวังค์ก็ดับ เมื่ออตีตภวังค์ดับ ภวังค์ต่อไปชื่อว่า ภวังคจลนะ เพราะไหวตามอารมณ์ที่กระทบ แต่ยังไม่มีการรู้อารมณ์ใหม่ ชื่อว่า ภวังค์แล้วต้องมีอารมณ์เหมือนเดิม เหมือนปฏิสนธิจิต เมื่อภวังคจลนะดับไป ทำให้ภวังคจิตเกิดต่ออีก ๑ ขณะ เป็นภวังค์ดวงสุดท้าย คือ ภวังค์คุปเฉทะ หลังจากนั้นแล้วจิตเริ่มมีอารมณ์ใหม่
ผู้ฟัง คือ ๓ ตัวนี่อยู่ในอารมณ์เดียวกัน
ท่านอาจารย์ เป็นภวังค์ค่ะ ยังเป็นภวังค์อยู่
ขณะนี้เป็นอย่างนี้นะคะ จิตกำลังเป็นภวังค์ แล้วก็มีการเห็น การได้ยิน แต่ละวาระไป
ต้องศึกษาจริงๆ แล้วจะเข้าใจขึ้น และต้องเป็นการศึกษาตามลำดับด้วย แต่คนที่เคยฟังมาแล้ว ถ้ามีปัญหาก็ถามนะคะ จะได้เข้าใจขึ้นได้