กิเลส ๑๐


    ผู้ฟัง ที่บอกว่า มีกิเลส ๑๐ อันนี้ถูกต้องไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ อกุศลจิตมี ๓ ประเภท คือ มีโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต แต่อกุศลเจตสิกมี ๑๔ ชนิด เพราะฉะนั้นอกุศลเจตสิก ๑๔ ชนิด จะไปเกิดกับจิตอื่นไม่ได้เลย ต้องเกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นก็มาแยกดูว่า ในอกุศลเจตสิก ๑๔ เจตสิกไหนจะเกิดกับอกุศลจิตประเภทไหน เราแยกเป็นพวกก่อน แล้วเราถึงมาจัดอีกอย่างหนึ่งว่า ในอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท ท่านจำแนกออกตามหน้าที่การงานของเขาเป็นประเภทๆ ไป เป็น ๙ ประเภทก็ได้ เป็น ๑๐ ประเภทก็ได้ แล้วแต่จะทรงจำแนกไว้ กว้างขวางมาก

    เพราะฉะนั้นเราก็ดูว่า สำหรับจิตที่เป็นโลภมูลจิตจะมีอกุศลเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยบ้าง อกุศลเจตสิกที่ต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท ก็คือโมหะ ได้แก่ โมหเจตสิก ๑ อหิริกะ ๑ อโนตตัปปะ ๑ อุทธัจจะ ๑ ทั้ง ๔ นี้เป็นกิเลส นับไปเลยว่า ๔ แล้ว โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ เพราะเหตุว่าถ้าขณะใดที่อกุศลจิตเกิด จะปราศจากเจตสิก ๔ ดวงนี้ไม่ได้เลย เป็นอกุศลสาธารณะ

    เพราะฉะนั้นทุกคนจำได้ว่า เป็นโมจตุกะ ที่ใช้คำว่า “โม” คือ เอาโมหะเป็นหัวหน้า และสำหรับกลุ่มนี้มี ๔ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า “โมจตุกะ” ได้แก่ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ถ้าจิตของใครเป็นอกุศล เราจะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว และเป็นอกุศลเจตสิกซึ่ง ๔ ดวงนี้ต้องเกิดแน่นอน ทีนี้ก็จำได้ โม และ จตุกะ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ นี่เป็นกิเลส ๔ แล้วก็ต้องมีโลภเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิต มิฉะนั้นอกุศลประเภทนั้นจะไม่เป็นโลภะ จะไม่ใช่สภาพที่ติดข้อง เพราะฉะนั้นก็ต้องมีโลภเจตสิกเกิดอีก ๑ รวมเป็น ๕ ถ้าเราจะพูดถึงกิเลส ๑๐ ก็ได้ ๕ แล้ว

    และสำหรับโลภมูลจิต ก็จะมีความเห็นผิด ทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ความเห็นผิดจะไม่เกิดกับอกุศลประเภทอื่นเลย เพราะว่าขณะใดที่เรามีความเห็นผิด ขณะนั้นแสดงว่า เราติด เราต้องการ เราพอใจในความเห็นนั้น จึงได้ยึดมั่นในความเห็นนั้น เพราะฉะนั้นทิฏฐิเจตสิกจะเกิดกับอกุศลจิตประเภทเดียว คือ โลภมูลจิต

    เพราะฉะนั้นก็เป็นกิเลสกี่ประเภทแล้ว เมื่อกี้นี้ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ เป็นโมจตุกะ ๔ โลภะอีก ๑ เป็น ๕ ทิฏฐิอีก ๑ เป็น ๖ และมานะเจตสิก สภาพที่สำคัญตนก็จะไม่เกิดกับจิตอื่นเลยที่เป็นอกุศล นอกจากโลภมูลจิตเท่านั้น

    นี่เป็นการแสดงสภาพจิตใจของเราอย่างละเอียดว่า แต่ละขณะที่เกิดขึ้นมาแม้ว่าจะสั้น เป็นอกุศล แต่ก็มีเจตสิกแต่ละชนิดซึ่งทำกิจหน้าที่ต่างๆ กัน เช่น มานเจตสิกจะเกิดกับโลภมูลจิต ขณะใดที่มีความสำคัญตน ขณะนั้นต้องมีความติดข้องในตน เพราะฉะนั้นจึงมีความสำคัญในตน เพราะฉะนั้นมานเจตสิกก็เกิดกับโลภมูลจิต เป็นกิเลส ๗ แล้วใช่ไหมคะ โมจตุกะ ๔ โลภะ ๑ ทิฏฐิ ๑ มานะ ๑ เป็น ๗ แล้ว

    เหลืออีก ๓ ก็ไปถึงอกุศลจิตอีกประเภทหนึ่ง คือ โทสมูลจิต จิตที่ชื่อว่า โทสมูลจิต เพราะมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นโทสะก็เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เป็น ๘

    และสำหรับเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิตที่เป็นกิเลส ได้แก่ วิจิกิจฉาอีก ๑

    ตั้งต้นด้วยโมจตุกะ ๔ โลภะ ๑ เป็น ๕ ทิฏฐิ ๑ เป็น ๖ มานะ ๑ เป็น ๗ โทสะ ๑ เป็น ๘ และวิจิกิจฉาอีก ๑ เป็น ๙ เหลืออีก ๑ คือ ถีนเจตสิก เป็นกิเลส ๑๐

    วันนี้ใครยังไม่คล่อง ก็นับบ่อยๆ จะได้คล่อง จะได้ทราบว่า อกุศลจิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง


    หมายเลข 8131
    24 ส.ค. 2567