โลภะ - โทสะ


    ผู้ฟัง ทีนี้ท่านอาจารย์ก็กล่าวมาแล้ว ๑๐ ข้อ ดิฉันอยากจะขอรายละเอียดของความหมายของแต่ละคำสักนิดนะคะ ดิฉันจะลองพูดนะคะ โลภะ คือ ความอยาก อยากในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า อยากจะได้ของที่ดีเสมอ แม้แต่ของที่ไม่อยาก ก็ถือว่าเป็นโลภะไหมคะ

    ท่านอาจารย์ คือ ต้องทราบว่า โลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง ไมสละ ใช้คำนี้จะชัดเจนไหมคะ เป็นสภาพที่ติดข้อง ไม่สละ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็หมายความได้ทั้ง ๒ อย่างเหมือนกันที่ดิฉันพูด คือ ทั้ง ...

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไม่ติดนะคะ ติด เป็นสภาพที่ติดข้อง โลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง

    ผู้ฟัง ติดทั้ง ๒ อย่างด้วย คือไม่อยากได้ด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่อยาก ไม่ติดค่ะ ต้องติดข้อง ไม่สละ

    ผู้ฟัง ติดที่จะไม่อยากได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ความติดข้องคือไม่สละ เราดู ทางตา เราพอใจที่จะเห็น เพราะฉะนั้นให้ทราบไว้เลยว่า เรามีความติดข้องในการเห็น และในสิ่งที่ปรากฏ ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม ไม่มีความต้องการที่จะให้เราติดเลย แต่เราช่างพอใจในสีสันที่ปรากฏทางตา ขอให้อะไรปรากฏเถอะค่ะ จะต้องมีสภาพที่ติดข้องในสิ่งนั้น เพราะว่ามีโมหะ สภาพที่ไม่รู้ ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งใดๆ เลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัย เกิดแล้วดับอย่างรวดเร็ว แต่เพราะไม่รู้

    นี่เป็นเหตุที่ว่า เรามีอวิชชา แต่ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมแล้วไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า ความไม่รู้อยู่ที่ไหน และมีมากสักแค่ไหน คล้ายๆ กับว่า เรามีปัญญามาก ใครพูดอะไรเราก็รู้ไปหมด เข้าใจไปหมด แต่ความจริงไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้ว ถ้าไม่รู้ว่าขณะที่กำลังเห็น แล้วปัญญาไม่เกิด ต้องเป็นโมหะ และต้องเป็นความติดข้อง

    เพราะฉะนั้นความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตานี่เร็วมาก ยังไม่ทันต้องไปนึกเป็นเรื่องเป็นราว เป็นคนนั้น เป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพียงแต่มีการเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ดับ ความติดข้องก็เกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้นนี่คือความติดข้องทางตา ความติดข้องทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ยังเรื่องราวต่างๆ ที่เราคิดในวันหนึ่งๆ โดยมากนักธุรกิจมีธุรกิจเยอะ คิดเรื่อย แต่ไม่รู้ว่า จิตที่คิดติดข้องในเรื่องที่คิด เราจึงได้คิดเรื่องนั้น ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสะ แต่ถ้าเป็นโทสะ เราจะคิดแบบขุ่นเคือง โกรธคนนั้น ไม่ชอบคนนี้ ไม่พอใจในลาภ ในคำสรรเสริญต่างๆ ที่เขาได้ ที่คนอื่นชื่นชมเขา นั่นก็เป็นเรื่องสภาพธรรมของจิตซึ่งหงุดหงิด หรือว่าไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจ ไม่ใช่ลักษณะของโลภะ

    เพราะฉะนั้นก็ต้องให้ทราบว่า ลักษณะของโลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง แล้วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้เรื่องราวที่คิดนึก อย่างเวลาดูโทรทัศน์ สนุกมากเลย คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรเลย เป็นแต่ชื่อซึ่งเขาแต่ง และเขาทำให้เราคิดไป แต่นั่นแสดงให้เห็นว่า มีความติดข้องในเรื่องราวที่กำลังคิดอยู่ และชีวิตจริงๆ ก็คืออย่างนี้

    เพราะฉะนั้นโลภะนี่มากเหลือเกิน แต่ต้องเป็นสภาพที่ติดข้องเท่านั้น จึงจะเป็นโลภะ ถ้าขณะใดที่ไม่พอใจ ไม่ชอบ ขณะนั้นไม่ใช่โลภะ เป็นโทสะ

    เพราะฉะนั้นอย่าปนกันที่จะว่า แม้แต่อยากไม่ต้องการ หรืออะไรอย่างนี้ ก็อย่าไปคิดมาก เอาเพียงลักษณะใดที่เป็นสภาพที่ติดข้อง ขณะนั้นเป็นลักษณะของโลภะ


    หมายเลข 8132
    24 ส.ค. 2567