ทิฏฐิ - มานะ
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้กล่าวคลุมถึงโลภะ โทสะ และโมหะแล้ว มานะกับทิฏฐิ รู้สึกจะใกล้เคียงกันมาก แต่คิดว่าความหมายคงต่างกันแน่
ท่านอาจารย์ ทิฏฐิเป็นความเห็นผิด
ผู้ฟัง เห็นผิดจะคล้ายกับโมหะหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ โมหะไม่รู้ค่ะ โมหะเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร ไม่มีแม้แต่ความเห็นค่ะ ไม่รู้อย่างเดียว ไม่สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏได้
ผู้ฟัง แล้วทิฏฐิละคะ
ท่านอาจารย์ ทิฏฐิเป็นความเห็น ถ้าเราถามคนที่นั่งข้างๆ เราว่า คิดอย่างไรเรื่องนั้นเรื่องนี้ เขาจะมีความเห็น
ผู้ฟัง อ๋อ เป็นความคิดเห็น
ท่านอาจารย์ ความเห็นว่า นิพพานเหมือนสวรรค์อย่างนี้ นั่นก็เป็นความเห็นอย่างหนึ่ง นั่นคือความเห็น แยกจากโมหะ
ผู้ฟัง มานะ คือ ทะนงตน หรืออย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ ทะนงตน สำคัญตน เรา สำคัญมาก มีความเป็นเราเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการที่มีความรู้สึกว่า เป็นเรา จะมี ๓ อย่าง คือ ด้วยทิฏฐิ หรือด้วยตัณหา หรือด้วยมานะ
ถ้าด้วยทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่ามีตัวตนจริงๆ มีเราจริงๆ ใครจะบอกว่าไม่มีเรา เป็นไปไม่ได้เลย ก็กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ และเห็นอย่างนี้ และคิดอย่างนี้ ก็จะต้องเป็นตัวเราอย่างนี้ นี่คือด้วยความเห็นผิดว่ามีตัวตน
ถ้าด้วยโลภะ ก็ของเราทั้งนั้นที่ดี ผมของเรา ตาของเรา ปัญญาของเรา ทุกอย่างที่เป็นของเรา นั่นมีความเป็นเราด้วยโลภะ
และถ้าด้วยมานะก็มีความสำคัญตน ด้วยความสำคัญในตัวตน นั่นเป็นลักษณะของมานะ