จริงสำหรับผู้ที่ประจักษ์
ผู้ฟัง เมื่อตะกี้ใช้คำว่า “ทิฏฐิ” ที่ผมทราบมาก็มี ๒ ทิฏฐิ คือ สัมมาทิฏฐิกับมิจฉาทิฏฐิ ถ้าอย่างไรท่านอาจารย์กรุณาให้คำแนะนำเรื่องสัมมาทิฏฐิด้วยครับ
ท่านอาจารย์ คือในพระไตรปิฎก บางทีใช้คำกลางๆ อย่างสมาธิ ก็มีทั้งมิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ ปฏิปทาการปฏิบัติก็มีทั้งสัมมาปฏิปทา และมิจฉาปฏิปทา เพราะว่าธรรมเป็นเรื่องจริง “ความเห็น” เป็นคำกลางๆ ความเห็นผิดก็อย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีจริง ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงก็มี เพราะฉะนั้นจึงมีทั้งสัมมาทิฏฐิ และมิจฉาทิฏฐิ ถ้ามิจฉาทิฏฐิก็คือความเห็นผิดจากความจริง สัมมาทิฏฐิก็คือความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ
๒ อย่างค่ะ ตรงกันข้ามกัน ถ้ามิจฉาทิฏฐิก็เป็นอกุศล เพราะเหตุว่าเห็นผิดจากความจริง ถ้าสัมมาทิฏฐิก็เป็นกุศล เพราะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง คราวที่แล้วผมหลงๆ เข้ามา ก็สนใจแต่นิพพาน อยากจะฟังเรื่องนิพพานน่ะครับ อาจารย์จะให้รายละเอียดอะไรบ้างไหมครับในที่ประชุมแห่งนี้
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว นิพพานมีจริงแน่นอน แต่จริงสำหรับผู้ที่ประจักษ์ เหมือนอย่างขณะนี้ทุกคนเห็น อะไรจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงสำหรับผู้ที่กำลังเห็น เสียงก็จริง สำหรับคนที่มีโสตปสาท คือ ไม่ใช่คนหูหนวก แต่ถ้าจะไปบอกคนหูหนวกว่า เสียงเป็นอย่างนี้อย่างนั้น อย่างไรเขาก็ไม่มีทางจะรู้ได้ เพราะเขาไม่มีโสตปสาท
เพราะฉะนั้นนิพพานก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่สำหรับโมหะจะรู้ ไม่ใช่สำหรับอกุศลจะรู้ แต่ต้องสำหรับโลกุตตรปัญญาจะรู้ เป็นปัญญาที่ได้อบรมจนกระทั่งถึงระดับที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ก่อน
เพราะฉะนั้นถึงแม้จะพูดเรื่องนิพพานเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอริยสัจจะที่ ๓ เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสังขตธรรมทั้งหลายที่เกิดดับ ก็เป็นเรื่องที่ขณะนี้ไม่ได้ปรากฏ
เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเรื่องของจิต เจตสิก รูปให้ปัญญาเข้าใจถูก เห็นถูก แล้วประจักษ์แจ้งเสียก่อน และเมื่อนั้นก็จะไปดำเนินทางไปสู่การประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เหมือนกับจะให้คนหูหนวกได้ยิน ก็ต้องรักษาหูเสียก่อน หรือคนตาบอดจะให้เขาเห็นได้ ก็ต้องทำให้เขามีตาดีเสียก่อน จะไปพูดให้เขาเข้าใจเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา โดยที่เขาไม่มีจักขุปสาท ก็เป็นการไร้ประโยชน์ เพราะว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นปัญญาของผู้ใดสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏแล้วขั้นไหน
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมตามลำดับ เพื่อประโยชน์ของผู้ฟังจริงๆ เหมือนกับรักษาคนตาบอดให้เขาเข้าใจถูกต้อง ให้เกิดความเห็นที่ถูกต้องเหมือนกับพยายามให้เขามีตาดี และมองเห็นได้
เพราะฉะนั้นจากอวิชชาซึ่งไม่รู้อะไรเลย ไม่เข้าใจอะไรเลย เกิดมาแล้วก็ตายไป ไม่เกิดปัญญาอะไรเลย ก็ทรงแสดงธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ให้มีสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูกต้อง ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง ต้องขั้นอบรมปัญญาถึงขั้นประจักษ์แจ้งด้วย และก็ทรงนำตลอดไปจนถึงความเป็นพระอริยบุคคล ประจักษ์แจ้งในอริยสัจ ๔ ซึ่งอริยสัจที่ ๓ ก็คือ นิโรธสัจจะ ได้แก่นิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่จะต้องประจักษ์แจ้ง มิฉะนั้นแล้วก็ดับกิเลสไม่ได้
ใครก็ตามที่คิดว่า นั่งไปๆ แล้วกิเลสก็จะหมด โดยปัญญาไม่รู้อะไรเลย เหตุกับผลไม่ตรงกันเลย และนั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เกิดปัญญาที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ จนกระทั่งสามารถประจักษ์ลักษณะของนิพพานเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น เพราะว่าปัญญามีหลายขั้น โลกียปัญญาก็ยังดับกิเลสไม่ได้ ต้องถึงโลกุตตรปัญญาจึงจะดับกิเลสได้
โลกียปัญญาก็คือปัญญาที่รู้จักโลก แล้วเวลานี้แม้แต่คำว่า “โลก” คำเดียว เรารู้จักหรือยัง มีใครจะให้คำอธิบายหรือความหมายของโลกเท่าที่คิดบ้างไหมคะ เพราะเหตุว่าถ้าถามปัญหาธรรมดาๆ ที่เราใช้บ่อยๆ ว่า โลก ก็ยังตอบไม่ถูก ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม
นี่แสดงให้เห็นว่าเราคิดเอง แต่เราไม่ได้ศึกษา แต่ถ้าเราศึกษา เราจะทราบว่า แม้แต่คำว่า “โลก” สิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเป็นความจริงว่า เป็นโลกจริงๆ แต่ถ้าไม่ได้ศึกษา เราก็คิดเรื่องโลกของเราไปตามเรื่องว่า โลกได้แก่ดาวดวงกลมๆ เบี้ยวๆ มีอะไรอยู่ในนั้น ทั้งๆ ที่อยู่ในโลกก็ยังไม่รู้จักโลก เกิดมาบนโลกก็ยังไม่รู้จักโลก แต่ก็พูดคำว่า “โลก” อยู่เรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นโลกียปัญญาไม่ใช่อย่างที่เราคิดอีกเหมือนกัน และโลกุตตรปัญญาก็ยิ่งเหนือโลก พ้นจากโลก จึงชื่อว่า “โลกุตตระ”
“อุตระ” หรือ “อุดร” แปลว่า เหนือ แปลว่า พ้น เหนือโลก พ้นจากโลก
เพราะฉะนั้นการฟังธรรมต้องฟังตามลำดับให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ให้พิสูจน์ได้เสียก่อน