สังขตธรรม
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพที่เกิดดับ เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายหรือสังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง จิตก็ไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้วดับไป เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่จิตดวงเดียว จิตเกิดดับทำกิจต่างๆ กันแต่ละขณะ อย่างเวลาที่เป็นภวังค์ หมายความว่าขณะนั้นไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ฝัน ไม่คิดนึก แต่ว่ายังไม่ตาย เพราะอะไร เพราะจิตขณะนั้นเกิดแล้วทำภวังคกิจ คือ ดำรงภพชาติ หลังจากที่ตื่น เราก็รู้ว่าไม่ตาย ไม่ใช่เป็นภพใหม่ ชาติใหม่
เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า จิต ไม่ใช่มีชนิดเดียว มีหลายประเภท และต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัยด้วย เช่น จิตเห็นต้องอาศัยจักขุปสาท ถ้าไม่มีจักขุปสาท จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ จิตได้ยินก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง อีกประเภทหนึ่ง ไม่ใช่เอาจิตได้ยินมาเห็น เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตได้ยินเกิดขึ้นแม้ในขณะนี้ เป็นเพียงธาตุรู้เสียง ซึ่งต้องอาศัยโสตปสาท และเราใช้คำภาษาไทยว่า “จิตได้ยิน” แต่ถ้าเป็นภาษาบาลีก็คือ โสตวิญญาณ คือ จิตที่รู้โดยอาศัยหู
นี่ก็ตรงๆ ตามธรรมชาติของสภาพธรรมนั้นๆ แล้วในขณะที่จิต เจตสิก รูปเกิดดับ ขณะนั้นไม่ใช่นิพพาน จิตคือจิต เจตสิกคือเจตสิก รูปคือรูป จะเป็นนิพพานไม่ได้ จิต เจตสิก รูป ไม่ใช่นิพพาน กำลังหลับก็เป็นจิต ไม่ใช่นิพพาน
ผู้ฟัง จิตเกิดดับเป็นสันตติไหมครับ
ท่านอาจารย์ เป็นสังขตธรรมค่ะ
ผู้ฟัง เป็นสังขตะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ หมายความว่า สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย
ผู้ฟัง จิตหรือเจตสิกกันแน่ที่เป็นสังขตธรรม
ท่านอาจารย์ จิต และเจตสิก และรูป ทั้ง ๓ อย่าง ในปรมัตถธรรม ๔ จิต เจตสิก รูป เกิดดับ เป็นสังขตธรรม สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดดับ ภาษาบาลีใช้คำว่า “สังขตธรรม” เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย
นิพพานเป็นอสังขตะ ไม่เกิด ไม่ดับ และสำหรับจิต เจตสิก รูป ต้องมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น เป็นสังขารธรรม สำหรับนิพพานนั้นเป็นวิสังขารธรรม
นี่คือแสดงความต่างของปรมัตถธรรม ๔ ว่า ปรมัตถธรรมที่เป็นโลก เป็นโลกียะ เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ มี ๓ ชนิด คือ จิต เจตสิก รูป ส่วนนิพพานนั้นเป็นปรมัตถธรรม แต่เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสังขตธรรม ไม่เกิดขึ้น ไม่ดับไป ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง
เพราะฉะนั้นนิพพานไม่ใช่จิต โลกุตตรจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ ประจักษ์ในลักษณะของนิพพาน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นโสตาปัตติมรรคจิต โสตาปัตติผลจิต ซึ่งเมื่อประจักษ์แจ้งนิพพานแล้ว ดับกิเลสแล้ว ผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน เวลาที่สกทามิมรรคจิต สกทามิผลจิตเกิดมีนิพพานเป็นอารมณ์ เวลาที่ประจักษ์แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสขั้นของพระสกทาคามี ผู้นั้นก็เป็นพระสกทาคามีบุคคล และอีกระดับหนึ่งคือเมื่อประจักษ์แจ้งอริยสัจ อนาคามิมรรคจิต อนาคามิผลจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ จึงดับกิเลสขั้นของพระอนาคามีบุคคล และบุคคลนั้นก็เป็นพระอนาคามีบุคคล จนกระทั่งในที่สุดดับกิเลสหมด ไม่เหลือด้วยอรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิต ซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ บุคคลนั้นก็เป็นพระอรหันต์
การรู้แจ้งอริยสัจธรรมต้องเป็นลำดับขั้น เพราะว่ากิเลสมีมาก ก็ต้องดับกิเลสเป็นขั้นๆ กว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ ต้องถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึง ๔ ขั้น