ทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ได้มั้ย
ผู้ฟัง ขอบพระคุณอาจารย์ครับ ทุกคนคงได้ฟัง ถ้าเข้าใจอย่างที่อาจารย์พูดเมื่อกี้นี้ ผมก็พอใจแล้วสำหรับที่มาวันนี้ แต่คุณจะทำนิพพานอารมณ์ให้ตลอดหรือต่อเนื่อง ตรงนี้น่ะครับ
ท่านอาจารย์ ทำไม่ได้ค่ะ ทำไม่ได้ ใช้ไม่ได้ มีปัจจัยจึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นปัจจัยจึงสำคัญมาก อย่างเวลาเห็นสิ่งที่น่าพอใจ มีปัจจัยให้ทุกคนเป็นโสมนัสเวทนา ความรู้สึกสบายใจ ดีใจ เห็นดอกไม้สวยๆ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่น่าพอใจ ขณะนั้นโทมนัสเวทนาจะไม่เกิด แต่ถ้าขณะใดที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ จะไปยับยั้งไม่ให้โทมนัสเวทนาเกิดก็ไม่ได้ จะต้องมีความขุ่นเคืองใจ
เพราะฉะนั้นสภาพธรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจิต ไม่ว่าจะเป็นเจตสิก ไม่ว่าจะเป็นรูปต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น ไม่ใช่เราจะไปเกิดเอง ไปทำ ไปใช้ ไม่ได้เลย ไม่มีใครทำจักขุปสาท ไม่มีใครทำเห็น ไม่มีใครทำได้ยิน จิตเกิดขึ้นทำกิจเห็น หน้าที่ของจิต คือ เห็น จิตเกิดขึ้นทำกิจได้ยิน นั่นคือหน้าที่ของจิตได้ยิน ซึ่งจิตอื่นก็ทำหน้าที่นี้ไม่ได้
เพราะฉะนั้นจะมีใครไปใช้อะไรไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าไม่มีตัวตนที่จะใช้ สภาพธรรมทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นเราจะต้องทราบความเป็นอนัตตาว่า ถ้าเป็นอนัตตาแล้ว อนัตตาจริงๆ คือ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย เราจะต้องค่อยๆ เข้าใจแม้แต่ความหมายของ “อนัตตา” ตามลำดับด้วย ต้องเข้าใจความหมายว่า สภาพธรรมเกิดจากเหตุปัจจัยจริงๆ เมื่อนั้นจึงจะไม่มีเรา แต่ถ้ายังคิดว่าจะทำ จะใช้อยู่ ก็ยังมีตัวตน ยังมีความเป็นเราซึ่งไม่มีสภาพธรรมใดเลยซึ่งจะเป็นเราได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นมีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ
แม้แต่เวทนา ความรู้สึก ก็มีถึง ๕ อย่าง ความรู้สึกดีใจ โสมนัสอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เราไม่ได้ดีใจอยู่ตลอดวัน เราไม่ได้เป็นสุขอยู่ตลอดวัน สภาพธรรมที่โทมนัส เสียใจ ขุ่นใจ ไม่สบายใจ ก็ไม่ใช่ว่าเรามีอยู่ตลอดวัน แล้วแต่มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป สภาพธรรมที่เป็นอุเบกขาเวทนา เฉยๆ เราจะไปบังคับให้เปลี่ยนเป็นดีใจก็ไม่ได้ เปลี่ยนเป็นเสียใจก็ไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยที่อุเบกขาเวทนาจะเกิด อุเบกขาเวทนาก็เกิด แล้วก็ดับ ก็ไม่เที่ยง
ต้องเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมแต่ละอย่าง กว่าเราจะเห็นจริงๆ ว่า ไม่มีเราที่จะใช้ หรือจะทำอะไร เพราะเหตุว่าไม่มีตัวตนจริงๆ ถ้ายังมีตัวตน ก็เป็นอัตตานุทิฏฐิ เป็นสักกายทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดอย่างหนึ่ง ในบรรดาความเห็นผิดมากมาย
ถ้าจะเข้าใจคำว่า “อนัตตา” ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ถ้าจะใช้คำว่า “เหตุปัจจัย” ก็ต้องเข้าใจจริงๆ โดยถ่องแท้ ไม่ใช่เดี๋ยวเป็นตัวเรา เดี๋ยวเป็นปัจจัย เดี๋ยวเป็นอนัตตา เดี๋ยวเป็นอัตตา อย่างนั้นก็แสดงว่า ไม่ได้เข้าใจความหมายของคำนั้นโดยถ่องแท้ ถ้าโดยถ่องแท้ “อนัตตา” ก็คืออนัตตาล้วนๆ เราจะบังคับกายของเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็ไม่ได้
ดิฉันมีหลานคนหนึ่ง อายุไม่มากเลย เป็นคนที่มีผมดำสวย แต่เขาก็เป็นโรคที่ทำให้ผมร่วงหมด บังคับไม่ได้เลย แล้วแต่เหตุปัจจัย จะไม่ให้ความรู้สึกชนิดหนึ่งชนิดใดเกิดก็ไม่ได้ เวลาเป็นอย่างนั้นก็ต้องมีความโทมนัส มีความเสียใจ เวลาที่ผมจะขึ้นมาสักเส้นสองเส้นก็ดีใจ ก็บังคับไม่ได้อีกเหมือนกัน ใช่ไหมคะ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกของใครก็บังคับไม่ได้ ไม่ว่าจะเสียใจ ดีใจ ก็ต้องเป็นไปตาม เหตุปัจจัย ต้องเข้าใจถึงความเป็นอนัตตา ต้องเข้าใจถึงเหตุปัจจัย แล้วก็จะรู้ว่า ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ถ้ามีเรา หรือมีตัวตนนี่จะมีความทุกข์ ทุกอย่างเพื่อเรา ต้องการให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อไม่ได้ก็เกิดโทมนัส เสียใจ แต่ถ้ารู้ว่า ทุกอย่างจะเกิดขึ้นแม้แต่เห็น ก็ต้องอาศัยจักขุปสาทรูปซึ่งกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิด เราจะทำให้จักขุปสาทรูปเกิดก็ไม่ได้ กรรมทำให้จักขุปสาทรูปเกิด กรรมทำให้เห็นต่างวาระว่า ขณะไหนเห็นดี ขณะไหนเห็นไม่ดี ก็เป็นไปตามกรรม ขณะใดที่เห็นสิ่งที่น่าพอใจ ก็เป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม ขณะใดที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นก็เป็นของอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรม
ตรงตัว ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาจริงๆ เพราะว่าทุกคนอยากมีแต่ความสุข ทุกคนอยากจะเห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี แต่ว่าชีวิตก็เลือกไม่ได้ แล้วแต่ว่าวันไหน ขณะไหน ย่อยจากวันเป็นขณะจิต จะเห็นชัดว่า แต่ละขณะแล้วแต่กรรม อยู่ด้วยกรรม เป็นไปตามกรรม สมกับคำในภาษาไทยที่เราใช้ อย่าง “ถึงแก่กรรม” เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ใครก็จะให้มีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ เพราะว่าถึงการสิ้นสุดของกรรม และคนนั้นก็เป็นไปตามยถากรรม คือ กรรมของตนที่ได้กระทำแล้ว ไม่ใช่คนอื่นจะมาดลบันดาลให้
เราก็จะเข้าใจคำว่า “อนัตตา” ขึ้นในชีวิตประจำวัน แล้วเราก็จะรู้ในสภาพของธรรมซึ่งเกิดดับ ซึ่งเป็นไตรลักษณ์ ซึ่งไม่เที่ยง ซึ่งเป็นทุกข์ เพราะเกิดขึ้นแล้วดับไป และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ต้องเข้าใจสิ่งที่มีอยู่ก่อนให้ชัดเจน ปัญญาต้องเพิ่มขึ้น จนกระทั่งประจักษ์แจ้งจริงๆ ไม่ใช่เพียงประมวลความคิดจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วเข้าใจว่า นิพพานคืออย่างนั้น อย่างนี้ เพราะเหตุว่านิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป จิตเป็นจิต ไม่ใช่เจตสิก เจตสิกเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป นิพพานเป็นนิพพาน ไม่ใช่รูป ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่จิต