บุญ - บาปอยู่ที่จิตของแต่ละคน
คุณศุกล การปฏิบัติหลังจากที่แต่ละท่านได้ทำกุศลแล้ว คือการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้มีพระคุณ และเทวดา อมนุษย์ทั้งหลาย อย่างนี้จะถูกต้องไหมครับ
ท่านอาจารย์ เพราะว่ากุศลมีหลายอย่าง กุศลในเรื่องทาน การให้ ไม่ใช่เฉพาะขณะให้เท่านั้น หลังจากที่ให้แล้ว เราสามารถอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้อนุโมทนา คือ ได้เกิดกุศลจิตที่ยินดีด้วย บันเทิงตามในกุศลที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ทำแล้ว ขณะที่จิตเกิดยินดีด้วย อนุโมทนา ขณะนั้นเป็นกุศลจิต
เวลาที่เราเห็นคนทำดี ถ้าเป็นคนที่ช่างริษยา ขี้อิจฉา ต่อให้คนนั้นจะทำดี แต่ถ้าเราไม่ชอบคนนั้น เราจะมองไม่เห็นเลยว่า สิ่งเขาทำเป็นสิ่งที่ดี มีเรื่องติ มีเรื่องว่าได้สารพัด นั่นคือผู้ที่ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่อนุโมทนาในสิ่งที่ดีที่คนอื่นทำ มองเห็นเป็นคน แล้วก็เป็นคนที่ไม่ชอบ ลืมคิดว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นการกระทำดี ซึ่งไม่ว่าใครทำก็ต้องดี เพราะว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราให้ทานแล้ว แล้วเราก็รู้ว่า บุคคลที่ได้ล่วงลับไปแล้ว เขาอาจจะเกิดในภูมิที่ทุกข์ยากลำบาก เช่น เกิดเป็นเปรต ถ้าเกิดในนรก เขาก็ไม่สามารถที่จะอนุโมทนาหรือล่วงรู้ได้ ผู้ที่เกิดเป็นเปรต หรือเกิดเป็นเทพ สามารถจะเกิดกุศลจิตอนุโมทนาได้
เพราะฉะนั้นเมื่อได้ทำกุศลแล้ว ก็ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลที่ได้ทำเพื่อให้คนอื่นได้รู้ และอนุโมทนา แต่ไม่ใช่หมายความว่า ไปส่งบุญให้เขา แล้วเขาก็ได้รับ นั่นผิดนะคะ บุญอยู่ที่จิตใจของแต่ละคน บาปก็อยู่ที่จิตใจของแต่ละคน
เพราะฉะนั้นเราใช้คำว่า “กุศลจิต” คือ จิตที่ดีงาม “อกุศลจิต” คือ จิตที่ไม่ดีงาม เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะไปยกจิตของเราให้กับใคร เอาบุญอันนี้ไปให้คนอื่นไม่ได้ ของใครก็ของคนนั้น จิตใครก็จิตของคนนั้น
เพราะฉะนั้นถ้าคนนั้นรู้แล้วไม่อนุโมทนา ต่อให้เราบอกว่า “ขอจงมีจิตโสมนัส ยินดี อนุโมทนา” เมื่อคนนั้นไม่อนุโมทนา กุศลจิตเขาไม่เกิด แล้วเราจะเอาบุญของใครไปให้ บุญไม่ใช่สิ่งที่จะหยิบ ยื่น ยกให้ใครได้ แต่เป็นเรื่องจิตของคนนั้น ขณะที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นสภาพจิตที่ดีงามจึงจะเป็นกุศล
เพราะฉะนั้นการอุทิศส่วนกุศลมีมาตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระเจ้าพิมพิสารได้เชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคไปประทับที่เมืองของพระองค์ แล้วมีการถวายทาน อุทิศส่วนกุศลให้กับญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเป็นเปรตมานานแสนนานทีเดียว แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า เมื่อเปรตซึ่งเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้รับการอุทิศส่วนกุศลแล้ว มีจิตโสมนัสยินดีอนุโมทนา ก็จะได้รับกุศลวิบาก พ้นจากสภาพของความเป็นเปรต
เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นว่า ในเรื่องของทาน เมื่อได้กระทำกุศล คือ การให้ไปแล้ว เราก็สามารถกระทำกุศลเนื่องกับทานนั้นต่อ โดยอุทิศส่วนกุศลให้ แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เฉพาะทานเท่านั้น กุศลทุกประเภทที่ทำสามารถอุทิศให้ แล้วแต่บุคคลใดจะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ถึงแม้เขาจะไม่บอกว่าอุทิศให้ แต่ผู้ใดที่ล่วงรู้ และอนุโมทนา ก็เป็นกุศลจิตของคนนั้น จะไปเปลี่ยนกุศลจิตของคนที่เกิดอนุโมทนาให้ไม่เป็นกุศลไม่ได้
นี่ต้องเป็นเหตุเป็นผลว่า ไม่ใช่เรื่องหยิบยกยื่นให้ ไม่ใช่เรื่องบังคับ ไม่ใช่เรื่องที่เราอุทิศแล้วเขาต้องได้รับ แต่เป็นเรื่องสภาพจิตของเขาเองที่จะเป็นกุศลหรือไม่เป็นกุศล และสำหรับการอุทิศส่วนกุศล จะเห็นได้ว่าเราจะอุทิศให้กับผู้มีคุณ เช่นมารดาบิดา ใครก็ตาม เพื่อนฝูงมิตรสหายซึ่งได้กระทำดีต่อเรา และเขาสิ้นชีวิตไปแล้ว ถ้ามีโอกาสที่เราจะทำการตอบแทนในสิ่งที่ดีที่เขาได้กระทำแล้ว เราก็อุทิศส่วนกุศลให้ แต่ทีนี้ถ้ายาวไปก็คงจะนึกไม่ออกบ้าง เพราะฉะนั้นเราก็สามารถจะกล่าวรวมไปได้เลยว่า นอกจากบิดามารดา แล้วก็ยังมีผู้มีพระคุณทั้งหมด ครูบาอาจารย์ แต่บางครั้งดิฉันก็จะใช้คำว่า “ผู้มีพระคุณ” ซึ่งก็รวมท่านอื่นๆ ด้วย ใช่ไหมคะ กว้างออกไปอีก และเทพ และอมนุษย์ทั้งหลาย ก็เท่าที่จะรวมๆ อุทิศไปได้