ขอพร - ให้พร ๑


    ผู้ฟัง เรื่องการขอพร จะว่าเป็นประเพณีของชาวไทยก็ไม่ผิด เช่นในวันสงกรานต์ก็ดี วันขึ้นปีใหม่ก็ดี บุคคลที่ได้รับการเคารพนับถือ ไม่ว่าจะพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็จะมีลูกหลาน ผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะมีคนมาแสดงความเคารพ แล้วขอให้ผู้ใหญ่นั้นให้พร ทีนี้ผู้ที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนามาเข้าใจแล้ว ก็รู้สึกว่า แล้วเราจะเอาพรอะไรไปให้ พูดไปก็กลัวว่าจะเป็นมุสา ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกที่ควร ท่านอาจารย์จะมีคำแนะนำอย่างไรที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ถูกขอร้องให้ให้พรในโอกาสต่อไป

    ท่านอาจารย์ คือตามเหตุผล ตามความเป็นจริงซึ่งคงจะต้องอาศัยพระพุทธศาสนาเป็นหลัก มิฉะนั้นแล้วเราก็จะทำตามๆ กันไป โดยไม่เกิดความรู้ความเข้าใจอะไรเลย แม้แต่ว่า “พร” คืออะไร

    ในพระพุทธศาสนา จะต้องตั้งต้นด้วย “คืออะไร” ให้เข้าใจจริงๆ ให้เข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่พูดตามๆ กันไป แล้วก็ไม่รู้ว่าคืออะไร

    จริงๆ แล้ว “พร” ก็มาจากภาษาบาลีที่ใช้คำว่า “วรํ” หรือภาษาไทยจะใช้คำว่า “วร” และ “ว” กับ “พ” ใช้แทนกันได้ เพราะฉะนั้นแทนที่จะเป็น วรํ วร ก็เป็น “พร” หมายความถึงสิ่งประเสริฐ

    อยากได้ไหมคะ พอพูดว่า พร คือ สิ่งประเสริฐ อยากได้ไหมคะ ตามความเป็นจริง อย่างจริงใจทีเดียวค่ะ อยากได้สิ่งประเสริฐไหมคะ อยากได้แล้ว อะไรละคะที่เป็นสิ่งประเสริฐที่อยากจะได้

    นี่ต้องเป็นผู้มีเหตุผลจริงๆ ไม่ใช่เพียงประเสริฐก็อยากจะได้แล้ว แต่ไม่ได้พิจารณาให้ลึกซึ้งจริงๆ ว่า อะไรที่เป็นสิ่งประเสริฐที่อยากจะได้

    ทีนี่ความเห็นของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันแล้ว ใช่ไหมคะว่า อะไรเป็นสิ่งประเสริฐที่อยากจะได้ เพราะฉะนั้นขอความเห็นด้วยค่ะว่า มีอะไรซึ่งเป็นสิ่งประเสริฐที่อยากจะได้ ในเมื่อเมื่อกี้นี้ทุกคนบอกว่า อยากจะได้ทั้งนั้นเลย แล้วพอทราบความหมายว่า พร คือ สิ่งประเสริฐ ก็ควรจะถามตัวเองว่า สิ่งประเสริฐที่อยากจะได้นั้นคืออะไร

    อ.ธนิต คือความสุขครับ

    ท่านอาจารย์ ความสุขประเสริฐแน่หรือคะ

    อ.ธนิต ทุกวันนี้ เขาบอกว่า ถ้าเขามีเงินมากๆ เขาก็มีความสุข และต่อมาก็อยากอายุยืน

    ท่านอาจารย์ ทุกคนคงเหมือนกันใช่ไหมคะ ขอความสุข ไม่เหมือนหรือคะ ถ้าอย่างนั้นเชิญบอกค่ะว่าอะไรเป็นสิ่งประเสริฐที่ต้องการ ความเข้าใจธรรม

    ที่จริงน่าจะมีเยอะนะคะ ๑. ที่ต้องการคือความสุข และต้องการอายุยืน และต้องการเข้าใจธรรม มีอะไรอีกไหมคะ

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วเมื่อศึกษาธรรมเข้าใจหนทางแล้ว ก็อยากเป็นอยู่สบาย และศึกษาธรรมด้วย ๒ อย่างครับ

    ท่านอาจารย์ อยากได้ทุกอย่างที่ดี ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ มีใครคิดถึงความดีบ้างไหมคะว่าเป็นสิ่งประเสริฐ มีแต่อยากได้ทั้งนั้นเลย อยากได้ลาภ อยากได้ยศ อยากได้สุข อยากได้สรรเสริญ อยากได้อายุยืน ไม่ได้คิดถึงความดี อะไรประเสริฐ

    นี่คือการที่จะไปขอพร คิดดูนะคะ มุ่งแต่จะไปขอพรจากใครก็ไม่รู้ ซึ่งเขาจะให้เราได้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้อีก อย่างไปขอพรท่านผู้ใหญ่ ท่านจะให้เราได้ไหมคะความสุข อายุยืน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือต้องเป็นผลของความดีที่เราได้กระทำ

    ผู้ฟัง ต้องเป็นผลของกรรมของเราเองครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราจะไปขอพร แล้วใครจะเอามาให้เราได้เลย ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นนี่เป็นเหตุเป็นผลจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็มีเด็กลูกหลานมาขอพร เป็นโอกาสเลยว่า ต้องการพรอะไร ก็ต้องทำความดีให้สมกับที่จะได้สิ่งนั้น มิฉะนั้นแล้วไม่มีโอกาสจะได้ ขอความสุขก็ต้องเป็นผลของความดี ขอลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ต้องเป็นผลของกรรมดี

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีกรรมดีแล้ว ไม่มีทางที่จะได้อะไรเลย


    หมายเลข 8164
    24 ส.ค. 2567