ขั้นต้นให้รู้ตามความเป็นจริง
คุณศุกล เรื่องการละกิเลส เวลาที่ฟังธรรมส่วนเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่น่าจะเกิดความรู้สึกท้อแท้หรือหนักใจอะไร แต่พอได้ฟังเทปตอนหนึ่งของท่านอาจารย์เมื่อพูดถึงว่า แม้จะมีอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท แต่จัดเป็นอกุศลหรือเป็นกิเลสถึง ๙ กองใหญ่ๆ เวลานี้แม้แต่ชื่อก็ยังจำไม่ค่อยได้ ตั้งแต่กองที่ ๑ คือ อาสวะ ซึ่งเป็นสิ่งที่หมักดองอยู่ในจิตตลอดเวลา และการที่จะรู้ทั่ว ยังไม่ต้องไปคิดละ ก็ยังไม่ค่อยจะรู้เลย ผมก็เลยคิดว่า ความรู้ที่ได้ยินได้ฟังมาจากท่านอาจารย์ทั้งหมด คงยังไม่เพียงพอทำให้เกิดสติปัญญาได้เลย ท่านอาจารย์จะอนุเคราะห์อย่างไรบ้างไหมครับ สำหรับการให้เป็นผู้มั่นคงเห็นว่า กิเลสเป็นสิ่งที่ควรละ และกุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญ จนกว่าจะสิ้นชีวิตนี้
ท่านอาจารย์ ก็ไม่มีอะไรนะคะ แต่อนุโมทนาอยู่ตอนหนึ่งที่รู้ว่า กิเลสมีมาก มิฉะนั้นแล้วทุกคนก็จะหลงตัวคิดว่าดีแล้ว ไม่มีทางเลยค่ะ ซึ่งปุถุชนผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลสจะดีแล้ว มีอีกมากมายนัก ซึ่งทุกวันไม่รู้เลยว่า กิเลสเพิ่มๆ เข้าไปเท่าไร ดูเหมือนไม่น่ากลัวเลย เพราะทุกคนก็เรียบร้อย วันนี้ก็ไม่ได้ทำกรรมอะไรทางวาจา ไม่ได้ประทุษร้าย ใช้วจีทุจริต คำหยาบคายอะไรที่ไหนนะคะ ดูเหมือนกับว่าดี แต่จริงๆ แล้วถ้ารู้ว่า ความละเอียดของธรรมก็คือ ขณะที่เห็น เพียงเห็น ยังไม่ทันคิด ยังไม่ทันรู้เลยว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร ขณะนั้นมีปัจจัยให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะแล้ว หรือสำหรับผู้ที่เจริญกุศลมาก มีปัจจัยให้กุศลจิตเกิดแล้ว แต่ผู้นั้นต้องเป็นผู้ตรง
เพราะฉะนั้นให้เห็นว่า แล้วจะแค่ไหน ขณะนี้เรากำลังนั่ง แล้วก็เห็นว่า เป็นคนนั้นคนนี้ แต่ก่อนที่จะเห็นว่าเป็นใคร เพียงแค่เห็นนิดเดียว ยังไม่ทันรู้ว่าเป็นใครเลย มีปัจจัยที่ทำให้เกิดอกุศลแล้ว และกุศลแล้ว และปกติก็ต้องเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังนั่ง หรือนอน ยืน เดินอยู่ที่ไหน ซึ่งไม่ใช่ขณะที่ฟังธรรม ไม่ใช่ขณะที่เข้าใจธรรม จะมีอกุศลวันหนึ่งๆ มากสักเท่าไร
เพราะฉะนั้นต้องอาศัยการฟังพระธรรมให้เกิดความเข้าใจของตนเอง ไม่ใช่ไปอนุเคราะห์กันด้วยเรื่องอื่น แต่พระธรรมอนุเคราะห์ให้ปัญญาของผู้ฟังเกิด ต้องเป็นความเข้าใจของตัวเอง
เพราะฉะนั้นผลของการฟังธรรมแต่ละครั้งให้ทราบว่า คือความเข้าใจ ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ เสียเวลามากๆ เลยไม่ว่าจะฟังอะไรที่ไหน แต่ถ้าฟังแล้วเข้าใจสักนิดหนึ่ง นั่นคือประโยชน์แล้ว และยิ่งฟังบ่อยๆ ความเข้าใจทีละนิดทีละหน่อยก็เพิ่มขึ้นอีก ทำให้มีความเข้าใจถูกต้องตรงขึ้น นั่นคือประโยชน์ของการฟังธรรม ไม่ใช่ไปอนุเคราะห์กันเรื่องอื่นค่ะ แต่ให้เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย
คุณศุกล ทีนี้พูดถึงเรื่องกิเลส ตามความเป็นจริงแล้วถ้าเป็นกิเลสที่เป็นความยินดี พอใจ ติดข้อง ไม่เห็นว่าเป็นโทษเลย กลับมีความพอใจ และสบายใจด้วยซ้ำไป แต่สิ่งนั้นก็เป็นกิเลสแล้ว เราจะรู้สึกเดือดร้อนเมื่อเป็นโทสะอย่างเดียว โมหะนี่ยิ่งสบายมาก เพราะว่าเห็นแล้วไม่รู้ ก็ไม่เดือดร้อนอะไร แต่ถ้าเห็นเกิดความชอบไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเป็นความชังแล้วเดือดร้อน ก็ต้องขอคำแนะนำที่ท่านอาจารย์พอจะพูดให้เป็นอนุสติให้มีการระลึกได้บ่อยๆ
ท่านอาจารย์ ผู้ที่ละโลภะได้หมดสิ้นเลย คือ พระอรหันต์ เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่เป็น ก็ยังมี แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า โลภะไม่ใช่เรา นี่คือขั้นต้น
ศุกล แต่ถึงแม้จะมี จะเกิด ก็ไม่เดือดร้อน
ท่านอาจารย์ คำว่า “เดือดร้อน” ของคุณศุกลนี่ ไม่เดือดร้อนตอนที่กำลังเป็นโลภะ เพราะเหตุว่ากำลังชอบ กำลังเพลิน แต่จะต้องมีทุกข์ติดตามมาไม่จบสิ้น เหมือนคนที่จะรักษาโรค ก็จะต้องรักษาให้ตรงสมุฏฐาน เพราะฉะนั้นต้องหาเหตุว่า ทุกข์เกิดจากอะไร คนที่ไม่รู้เหตุของทุกข์ ก็พ้นทุกข์ไม่ได้ แล้วทุกข์เกิดจากโลภะด้วย ถ้าไม่มีโลภะนี่แสนสบายเลย สบายจริงๆ สบายทุกอย่าง ทุกประการไปเลย มีชีวิตอยู่เหมือนกับคนที่รอเวลางานเลิก คือ จากโลกนี้ไปเท่านั้น เพราะว่าไม่มีตัวตน ไม่ติด ไม่ยินดีในสภาพธรรมด้วยความเห็นผิดว่าเป็นเรา นี่ยังเป็นเพียงพระโสดาบัน แต่ที่จะดับโลภะได้หมดสิ้นนั้นต้องเป็นพระอรหันต์
ความเข้าใจถูกคือปัญญา จะละความเข้าใจผิด จะละความเห็นผิดไปเรื่อยๆ จากเห็นว่า โลภะไม่เป็นโทษ จนกระทั่งเห็นโทษของโลภะว่าเป็นสมุทัย เป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ทั้งปวง