ปัญญาต้องเห็นตรงตามธรรมนั้นๆ
คุณศุกล พูดถึงความรู้ปกติธรรมดา ก็ยังไม่เข้าถึงความหมายที่ท่านอาจารย์พูดมาว่า โลภะเป็นสมุทัย หรือเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเป็นการข้ามขั้นตอน เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ตามลำดับ อย่างอริยสัจ ๔ ไม่ได้เริ่มต้นด้วยโลภะ แต่เริ่มต้นด้วยทุกขอริยสัจจะ ซึ่งหมายความว่า ความจริงแท้ คือ ความทุกข์ พูดอย่างนี้ทุกคนก็ไม่เห็น เพราะเหตุว่าทุกข์ที่นี่ หมายความถึงการเกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็วของทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งใดก็ตามซึ่งเกิดแล้วตั้งอยู่เพียงนิดเดียว ชั่วนิดเดียวเอง จะถือว่าสิ่งนั้นเป็นสุขได้หรือ แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ก็ยังคิดว่าเป็นสุข ทุกคนไม่เดือดร้อนเลย ขณะนี้เพียงฟัง จิต เจตสิก รูป เกิดแล้วดับอย่างรวดเร็ว ก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ประจักษ์
คุณศุกล ทีนี้พูดถึงทุกขเวทนาจะจัดเข้าในทุกขอริยสัจหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดค่ะ ซึ่งเกิดขึ้น สภาพธรรมใดที่เกิดขึ้นจะต้องอยู่เพียงชั่วขณะสั้นๆ แล้วก็ดับไป
คุณศุกล ผมคิดว่า เรื่องนี้คงเป็นความรู้ขั้นทุกขเวทนาไปก่อน
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ สติปัฏฐาน ทุกขเวทนาก็เป็นทุกข์ที่ทุกคนรู้จัก ไม่ต้องศึกษาพระพุทธศาสนาก็รู้ว่าเป็นทุกข์
คุณศุกล ทีนี้ทุกขอริยสัจจะที่ว่าเป็นสภาพที่เกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว อันนี้ต้องเป็นเรื่องของความรู้ที่สูงมาก
ท่านอาจารย์ ต้องประจักษ์แจ้งจึงจะเป็นพระอริยบุคคลได้ จากปุถุชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลส เป็นผู้ที่อบรมปัญญาจนรู้ความจริง จึงชื่อว่า “อริยสัจจะ” ความจริงของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ถ้าไม่ใช่พระอริยบุคคลไม่รู้อย่างนี้ เพียงแต่ฟัง ฟังแล้วก็สบายๆ เฉยๆ เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ แต่ว่าทุกคนก็ยังนั่งอยู่เป็นปกติดี
นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้ามองจริงๆ แล้ว อวิชชาแค่ไหน ไม่รู้เลย แล้วก็ยังพอใจด้วย นอกจากไม่รู้แล้วยังพอใจ มีทั้งสมุทัยด้วย
คุณศุกล ทีนี้เมื่อพูดถึงความเห็นผิดมี ๒ ลักษณะ ลักษณะหนึ่งเป็นสัสสตทิฏฐิ เห็นว่าเที่ยง และอีกลักษณะหนึ่งเป็นอุจเฉททิฏฐิ เห็นว่าสูญ เมื่อพูดถึงความเห็นผิดทั้ง ๒ อย่างนี้ ไม่ทราบว่าอย่างไหนจะมีโทษมากกว่ากันครับ
ท่านอาจารย์ ดิฉันไม่เคยจะไปคิดเปรียบ คิดวัดอะไรเลย เพียงความเห็นผิดนั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นโทษแล้ว ไม่ต้องไปเสียเวลาชั่งตวง อกุศลก็คืออกุศล และมีหลายระดับ แม้แต่ความเห็นผิดแต่ละอย่างก็มีระดับขั้นต่างๆ ด้วย
คุณศุกล ปกติแล้วเวลาที่เราพูดถึงความเห็นผิด เดี๋ยวนี้ก็เห็นผิดกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าสติไม่เกิด
ท่านอาจารย์ ก็เห็นโทษของความเห็นผิดอันนี้ ซึ่งจะนำมาซึ่งความเห็นผิดอีกมากมาย
คุณศุกล คือทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จริง ก็ต้องยอมรับว่า เป็นโทษ ที่ว่ายังไม่เห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้นใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ความเห็นผิดไม่ใช่ความเห็นถูก เพราะฉะนั้นความเห็นผิดต้องเป็นอกุศล ความเห็นถูกเป็นกุศล
คุณศุกล อย่างเวลาที่ได้รับฟังมาบอกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรม แต่เดี๋ยวนี้ผมเข้าใจว่า ทุกท่านพอเห็นปุ๊บก็เป็นคนเลย ก็ถือว่าเป็นความเห็นผิดใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ถ้ายึดถือว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่ด้วยเพียงสัญญา
คุณศุกล เห็นเป็นหญิง เป็นชาย
ท่านอาจารย์ มี ๓ อย่างค่ะ ความเห็นที่คลาดเคลื่อนด้วยจิต ด้วยสัญญา ด้วยทิฏฐิ อันนี้เราก็จะก้าวไปลึกซึ่งก็คงต้องอาศัยการฟัง ฟังวิทยุ แล้วก็ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ฟังไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะนี่เป็นเรื่องของจิต เจตสิก เพราะว่าความเห็นด้วยทิฏฐินั่นเป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง ด้วยสัญญา ความจำ ก็เป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง ด้วยจิต ก็เป็นจิตปรมัตถ์
คุณศุกล เชิญครับ ใครมีปัญหาจะสนทนาธรรม
ท่านอาจารย์ พระพุทธศาสนาสอนให้มั่นคงในเรื่องของกรรมมาก เป็นปัญญาที่แน่นอนที่เป็นกัมมสกตาญาณ หมายความว่าเป็นผู้ที่รู้เรื่องกรรม และมีความเชื่อในเรื่องของกรรม และเราก็ไม่ต้องไปโทษอย่างอื่นเลย และไม่ต้องไปกลัวภัยพิบัติใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเป็นผู้ที่มีกรรมดี
ผู้ฟัง เรื่องการเห็นผิด จะต้องศึกษาให้เกิดปัญญาถึงจะลดการเห็นผิดได้ ใช่ไหมคะ เพราะบางคนบางครั้งเราก็เห็นว่าเขาเห็นผิด การลดการเห็นผิดต้องจากปัญญา ใช่หรือไม่ หรือจากกรรม
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นเรื่องปัญญาค่ะ ปัญญา คือ ความเข้าใจถูก ความเห็นถูกลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ ไม่ใช่ตามความคิดเอาเองของแต่ละคน แต่ต้องตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ อย่างเราคิดว่าเที่ยง แต่ธรรมไม่เที่ยง ก็แปลว่าเห็นผิด เข้าใจผิด