ต้องรู้ทั่ว รู้ละเอียดจรืงๆ


    คุณศุกล คำว่า “สีลลัพพตปรามาส” มีความหมายอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ ลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดจากหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    คุณศุกล แล้ว “อิทังสัจจาภินิเวส” ที่บอกว่า เป็นความเห็นผิดอย่างอื่น เป็นความเห็นผิดอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ ในอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ใช่ไหมคะ เขาต้องจำแนกความเห็นผิดออกไปว่า มีความเห็นผิดกี่ประการ และความเห็นผิดอื่นนอกจากนั้น คือ อิทังสัจจาภินิเวส

    คุณศุกล การลูบคลำข้อปฏิบัติที่ผิด ทีนี้ข้อปฏิบัติที่ถูกมีอยู่ข้อเดียวใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ข้อเดียวคืออะไรคะ

    คุณศุกล คือการเจริญสติ และปัญญา

    ท่านอาจารย์ การอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    คุณศุกล ถ้าสมมติว่าเวลานี้ฟังพอเข้าใจบ้าง สิ่งที่จะเพิ่มพูนให้เกิดสติ และปัญญา ด้วยการคิดนึกใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ การคิดนึกก็เป็นส่วนหนึ่ง ถ้าคิดถูกก็เป็นกุศล

    คุณศุกล คิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏว่า ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง ก็ต้องมีการฟัง แล้วพิจารณาเข้าใจแล้วสติเกิด

    คุณศุกล ต้องเน้นที่มีลักษณะจริงๆ ของแต่ละทางที่ปรากฏ เช่น ทางตา

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏพอที่สติจะเกิดระลึกได้ ถ้าไม่มีความเข้าใจ ก็ไม่มีทางที่สติจะไประลึกได้

    คุณศุกล อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา ท่านอาจารย์ก็พูดมามาก และมีคำถามถามกันมาก แต่ความเข้าใจจริงๆ ผมก็คิดว่า ยังไม่ใกล้ คล้ายกับว่า เห็นทีไรก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ แล้วเราจะพิจารณาให้เป็นสิ่งที่ปรากฏจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ก็เวลาก็กำลังปรากฏอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่ปรากฏ เวลานี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ

    คุณศุกล แล้วทำไมเราถึงเป็นคน เป็นผู้หญิง ผู้ชาย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่สามารถเข้าใจได้ ต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจได้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    คุณศุกล เดี๋ยวนี้จะว่าไม่เข้าใจ ก็เข้าใจนะครับ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเรื่อง เข้าใจคำ แต่เข้าใจจริงๆ คือ ขณะนี้ที่กำลังเห็น แล้วรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    คุณศุกล ก็เป็นสิ่งที่

    ท่านอาจารย์ ต้องใช้กาลเวลา

    คุณศุกล ชาตินี้อาจจะไม่รู้เลยก็ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิดหรอกค่ะ แล้วแต่เหตุปัจจัยค่ะ

    คุณศุกล อย่างทางหู บางครั้งก็พิจารณา ไม่ค่อยจะยาก ไม่เหมือนทางตา เพราะทางหูเป็นเพียงเสียง แล้วจึงมาการคิดเป็นคำ แต่ทางตา มันปรุงแต่งจนกระทั่งเป็น

    ท่านอาจารย์ แต่ถึงเวลานี้ ขณะใดที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ปัญญายังไม่เจริญ ก็คิดว่าได้ยินคำแล้วล่ะค่ะ ไม่ใช่ได้ยินเสียง

    คุณศุกล แต่มีเสียงปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถูก แต่ในขณะนั้นที่ได้ยิน รู้คำเลย

    เป็นเรื่องการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เรื่องจะไปรีบร้อน รีบรัด หรือทำอะไรเลย แต่รู้ว่า ปัญญาต้องอบรม การอบรมนี่ต้องช้าทีเดียว ไม่ใช่ว่าเร็ว แล้วแต่การสะสมของแต่ละคนว่า สะสมมามากน้อยแค่ไหน ถ้าสะสมมามากก็เร็วมาก ถ้าสะสมมาน้อยก็ต้องสะสมต่อไปอีก

    คุณศุกล อย่างเวลาที่สติปัญญาเกิด สิ่งที่ปรากฏก็รู้ตามความเป็นจริง และการคิดนึกจนกระทั่งเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็รู้ตามความเป็นจริง หมายความว่ารู้ทั้งสองธรรม อย่างนั้นใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ รู้ตามความเป็นจริงทุกอย่าง

    คุณศุกล ว่าสิ่งที่เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างตามความเป็นจริงแต่ละอย่างๆ

    คุณศุกล และถ้าเป็นสมมติ เป็นบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคิด ก็รู้ว่า เป็นจิตที่คิด

    คุณศุกล ไม่ใช่ว่าพอเป็นสติปัฏฐานแล้วก็มีแต่ลักษณะอย่างเดียว จนกระทั่งไม่มีสิ่งที่เป็นบัญญัติ หรือสมมติเลย อย่างนั้นใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังรู้ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีจริงหรือเปล่า

    คุณศุกล จากการศึกษา

    ท่านอาจารย์ เอาความจริงเดี๋ยวนี้ ที่รู้ว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ มีจริงๆ หรือเปล่า อาการรู้ ลักษณะรู้นั้นมีไหม

    คุณศุกล มีจริงๆ ครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้ามี ขณะนั้นสภาพรู้อย่างนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เห็น แต่เป็นสภาพรู้ความหมายของสิ่งที่เห็น

    คุณศุกล ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า การเห็นคน เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ ขณะที่สติปัญญาไม่เกิด ก็ไม่รู้ แต่เวลาที่สติปัญญาเกิด ก็เห็นเป็นคน เป็นเก้าอี้ตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ แต่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมที่รู้อย่างนั้น ไม่ผิดปกติเลย ทุกอย่างตามความเป็นจริง ถึงต้องเป็นเรื่องที่ต้องเจริญทั่ว และละเอียด

    คุณศุกล ทั่วนี่ยังไม่ทั่ว แต่ผมกำลังพิจารณาในแต่ละทางที่พอจะมีแนวในการพิจารณาต่อไป คือ หมายความว่า เวลานี้เกิดความสงสัยว่า สิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นทางตา ก็เป็นสี ทีนี้เมื่อหลังจากสีปรากฏแล้ว ก็ต้องเป็นวัตถุ เป็นคน เป็นหญิง เป็นชาย เป็นต้นไม้ เป็นเก้าอี้ เมื่อสติปัญญาเกิดก็รู้ว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นหญิง เป็นชาย ตามความเป็นจริงอย่างนี้ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ แต่รู้ว่าเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นก่อนจะรู้ทั่ว ก็ต้องรู้ทีละลักษณะๆ ค่อยๆ รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย พอทั่วแล้วก็เหมือนกันหมด คือ นามธรรมที่รู้

    คุณศุกล แต่เวลานี้เป็นความรู้ที่ได้จากความย่อที่ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องอบรมไงคะ ไม่อย่างนั้นพระผู้มีพระภาคจะไม่ใช้คำว่า “ภาวนา” ก็หมายความว่ารู้ทันที แต่ใช้คำว่า “ภาวนา” แปลว่าต้องอบรม

    คุณศุกล อบรมแล้วก็ยังไม่รู้

    ท่านอาจารย์ จิรกาลภาวนา ใช้คำนี้ด้วย จีร แปลว่า ยาวนาน กาล แปลว่า เวลา ต้องใช้เวลานานมากในการอบรม

    คุณศุกล เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการพิจารณา ก็

    ท่านอาจารย์ การอบรมด้วยสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะรู้จริง จนกว่าจะรู้ทั่ว จนกว่าจะรู้ละเอียด


    หมายเลข 8171
    24 ส.ค. 2567