พระอภิธรรมเป็นพื้นฐานความเข้าใจพระธรรมวินัยทั้งหมด
คุณศุกล คำว่า “การวิรัติ” งดเว้น หมายความว่าเป็นศีลขั้นกาย ขั้นวาจา หมายความว่าขณะนั้นยังมีตัวมีตน เป็นเราอยู่ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ แล้วแต่บุคคล พระอริยะท่านก็มีวิรัติ
คุณศุกล ทีนี้เวลาที่เป็นการปหานกิเลสแล้ว ขณะนั้นไม่มีคำว่า “สมาทานศีล” เลย ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ แล้วแต่บุคคลค่ะ “สมาทาน” แปลว่า ถือเอาประพฤติปฏิบัติ จะใช้คำ ก็ต้องใช้ให้ถูก ให้เข้าใจความหมายว่า สมาทานคืออย่างไร สมาทาน หมายความถึงถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ
คุณศุกล โดยมีสิ่งงดเว้นเป็นข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕
ท่านอาจารย์ คุณศุกลไม่ได้ลักขโมยใคร ใช่ไหมคะ
คุณศุกล ยังไม่มีเหตุที่จะลักขโมยครับ
ท่านอาจารย์ เวลาที่เราไม่ทำนั้น หมายความว่าเราถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ เราจะต้องไปบอกใครหรือเปล่า
คุณศุกล บอกเพื่อกันไม่ให้เราหลงลืมใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ไม่บอกก็ได้ บอกแล้วไม่ทำก็ได้ บอกทำไม กับเราทำโดยที่เราก็ไม่ต้องบอก แต่เราถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ
คุณศุกล ทีนี้กับคำว่า ปหานกิเลส
ท่านอาจารย์ ดับกิเลส ไม่เกิดอีกเลย กิเลสที่ดับแล้ว จะไม่เกิดอีกเลย ถ้าไม่มีการดับกิเลส ไม่มีพระอริยบุคคล มีแต่ปุถุชน แต่ปุถุชนต่างกับพระอริยบุคคลที่ พระอริยบุคคลดับกิเลส กิเลสที่ดับแล้วไม่เกิดอีกตามลำดับขั้น
คุณศุกล ทั้งๆ ที่ก็มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่นต่างๆ เป็นปกติ
ท่านอาจารย์ นี่คือความต่างกันของปุถุชนกับพระอริยบุคคล
คุณศุกล ทั้งหมดนี่ต้องอาศัยปัญญา
ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ
คุณศุกล ทีนี้การอบรมเจริญปัญญา นอกจากการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ยังมีธรรมข้ออื่นที่จะเกื้อกูลไหมครับ
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างในชีวิตประจำวัน
คุณศุกล ทาน ศีล ก็มีส่วนสนับสนุน ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง
คุณศุกล มีใครจะสนทนาไหมครับ ขอให้เป็นอย่างที่ท่านอาจารย์ย้ำเสมอว่า เป็นการสนทนาธรรม
ท่านอาจารย์ ที่บรรยายไว้แล้ว ฟังหมดหรือยัง ถึงจะต้องให้บรรยายอีกใช่ไหมคะ แล้วเข้าใจหมดหรือยัง แล้วอบรมเจริญอย่างนั้นหมดหรือยัง ก็ไม่ต้องมีการบรรยายอะไรอีก เพราะว่าทุกท่านที่เข้าใจแล้วก็ศึกษาเองตามพระไตรปิฎกอรรถกถา ยิ่งละเอียดกว่านั้นมากมาย ไพเราะกว่านั้น ลึกซึ้งกว่านั้นอีก ที่บรรยายเป็นแต่เพียงแนวทางที่จะให้ทุกคนเกิดปัญญา ความเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง เข้าใจธรรมถูกเพื่อที่จะได้ไปศึกษาต่อได้กว้างขวางมากกว่านี้อีก
คุณศุกล ถ้าสมมติว่า จะอาศัยการฟังของท่านอาจารย์แค่นี้ โดยที่ไม่มีอุปนิสัยจะไปศึกษาต่อ จะมีหนทางเป็นไปได้ไหม
ท่านอาจารย์ ดิฉันคิดว่า ทุกคนยังไม่เคยอ่านพระไตรปิฎกด้วยตัวเอง เพราะบางทีก็คิดว่า ไม่มีเวลา แค่ฟังเทปนี่ก็มากแล้ว แต่อยากจะขอร้องจริงๆ ค่ะ ว่า ถ้าได้อ่านพระไตรปิฎกด้วยตัวเอง จะวางไม่ลง จริงๆ ค่ะ ถ้าเป็นเล่มเล็กๆ นี่อาจจะอ่านได้หมดเลย คือว่าอ่านแล้วก็ต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งลืม ทีแรกก็คิดว่า จะอ่านสักสูตรเดียวที่อาจจะค้น หรือต้องการจะอ่าน แต่อยากจะให้อ่านจริงๆ เพราะเหตุว่าที่ยกมาเป็นตัวอย่างในการบรรยาย เพื่อเหมือนกับเชิญชวนทุกคนให้เห็นบางข้อความเท่านั้น ซึ่งความสมบูรณ์จริงๆ เต็มในพระไตรปิฎก ทั้งพระวินัย ทั้งพระสูตร พระอภิธรรมก็คงจะยากแน่นอน ถ้าไม่เข้าใจปรมัตถธรรมเป็นพื้นฐาน อ่านก็ไม่รู้เรื่องแน่
เพราะฉะนั้นที่เข้าใจอภิธรรมเป็นพื้นฐานแล้ว จะช่วยให้เข้าใจพระวินัย และเข้าใจพระสูตร และพระสูตรที่นำมาไม่ใช่ทั้งหมด เป็นส่วนเล็กน้อยจริงๆ ความไพเราะยังมีอีกมากที่นั่น เพราะฉะนั้นทุกคนนอกจากฟังวิทยุสักครึ่งชั่วโมงแล้ว ถ้ามีโอกาสจะอ่านพระไตรปิฎกต่อ ก็จะเป็นประโยชน์มาก
ผู้ฟัง เวลาที่ผมอ่านอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวมา ขณะที่อ่านเกิดความคิดว่า คล้ายๆ กับเห็นภาพที่ไปที่พระเชตวันมหาวิหาร มีพระภิกษุ แล้วกลายเป็นคิดฟุ้งซ่าน ไม่ได้อ่านอีกแล้ว มันเลยไป มาคิดมาก เลยต้องหยุดอ่าน จะสลับอย่างนี้ตลอดเวลา
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วพระไตรปิฎกจะมีคุณมาก ตอนที่เราอ่านแล้ว เรารู้ว่า เป็นตัวเราที่ไม่ดี ใช่ไหมคะ อย่างเวลาที่ทรงแสดงกับพระภิกษุ หรือใครก็ตามแต่ คฤหบดีที่ไปเฝ้า และกราบทูลถาม แล้วทรงแสดงเรื่องสภาพธรรม เป็นชีวิต เป็นขณะจิต เป็นของจริงซึ่งเกิดกับเรา ก็เหมือนทรงเทศนากับเรา ให้เห็นตัวเรา
เพราะฉะนั้นถ้าอยากรู้จักตัวเอง และพระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องนี้ ถึงตัวเราเดี๋ยวนี้ ก็ไปอ่านพระไตรปิฎก ชี้แจงให้เห็นความจริงที่เราได้สะสมมา จากพระโอษฐ์ ทั้งหมดน้อมมาเพื่อที่จะได้เห็นโทษของอกุศล และเห็นประโยชน์ของการเจริญกุศล