ปฏิบัติไปโดยไม่เข้าใจจุดประสงค์


    ท่านอาจารย์ คือต้องทราบจุดประสงค์ว่าเราปฏิบัติเพื่ออะไร อย่างเวลาเราจะทำอะไร เราก็ต้องมีจุดประสงค์ใช่ไหมว่า เราจะทำเพื่ออะไร เราจะแกงส้ม เราจะแกงเลียง

    ผู้ฟัง จุดประสงค์ คือ บางคนใจไม่สงบ เราพิจารณาอย่างนี้ให้ใจสงบ

    ท่านอาจารย์ แปลว่าเราจะเปลี่ยนความคิดของเราจากคิดเรื่องคนนั้นคนนี้มาเป็นคิดเรื่องส่วนต่างๆ ของร่างกายของเราให้เกิดความสงบ ว่ามันเป็นปฏิกูล ก็ได้เพื่อแค่นั้นเอง แต่ทีนี้การเริ่มต้นที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เพียงการไปนั่งคิดว่า ไม่สะอาด ต้องรู้ว่า ที่ไม่ใช่ตัวตนนี่ต้องฟังธรรม แล้วไม่ต้องไปปฏิบัติ ต้องเข้าใจก่อนค่ะ

    ข้อสำคัญที่สุด คือ เข้าใจ แล้วปัญญานั่นเองปฏิบัติกิจของปัญญา ไม่ใช่เราทำ ส่วนใหญ่จะเป็นเราไปทำ แต่ไม่ใช่เป็นปัญญาที่เข้าใจถูก แล้วปัญญาก็ทำหน้าที่รู้ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย

    รู้สึกว่าจะชอบปฏิบัติ ใช่ไหมคะ แต่จริงๆ แล้วต้องศึกษาก่อน

    ผู้ฟัง รู้สึกว่าไปนั่งปฏิบัติก็สงบดี

    ท่านอาจารย์ เราเข้าใจว่าสงบ แต่พระธรรมแสดงเรื่องของจิตที่สงบละเอียดกว่านั้น ว่าไม่ใช่การนั่งเฉยๆ หรือไม่ใช่การไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วจะสงบ แต่สงบที่นี่ คือ ไม่มีโลภะ ขณะที่เราไปนั่งนี่เราชอบว่ามันสงบ ขณะนั้นเป็นโลภะชนิดหนึ่ง เรายังไม่เห็นตัวโลภะอย่างละเอียด เราเห็นแต่เฉพาะเวลาที่เกิดความโลภมากๆ อยากได้นั่น อยากได้นี่ เราก็คิดว่าเป็นโลภะ แต่เราไม่รู้ว่า ทุกขณะตั้งแต่ลืมตาตื่น เป็นโลภะทั้งหมด แม้แต่การที่เราจะไปนั่งอย่างนั้นก็ด้วยโลภะ เพราะว่าเมื่อปัญญายังไม่เกิด โลภะก็ต้องเกิด ถ้าปัญญาเกิดแล้ว โลภะจะเกิดไม่ได้ เพราะว่าเขาเป็นธรรมฝ่ายตรงกันข้ามกัน อย่างเวลาที่เรามีความเห็นถูกเรื่องเจ้ากรรมนายเวร เราก็ไม่ต้องกลัวเจ้ากรรมนายเวรที่ไหนอีก

    นี่คือความเห็นถูกทำหน้าที่ละโทสะ หรือความกลัว ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความเห็นถูกในเรื่องการอบรมเจริญปัญญา ปัญญาก็ทำหน้าที่ของปัญญา แต่ถ้าปัญญายังไม่เกิด ก็จะมีเราไปทำทุกอย่างที่คนอื่นบอกให้ทำ แต่ว่าไม่ใช่ปัญญา เพราะว่าปัญญายังไม่เกิด

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นให้เข้าใจถูก ความเข้าใจถูกก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญญา ไม่ใช่เรา แล้วปัญญาทำหน้าที่ของเขา คือ ถูกไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นความเห็นผิด ก็ทำหน้าที่ผิดไปเรื่อยๆ เหมือนกัน เพราะสภาพธรรมมี ๒ อย่าง ความเห็นถูก ก็เป็นธรรม เป็นของที่มีจริงอย่างหนึ่ง ความเห็นผิดก็เป็นธรรม คือ สิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่พิจารณาต้องเป็นความเห็นผิด แต่พอเริ่มพิจารณาเหตุผลแล้ว ความเห็นถูกค่อยๆ เกิดขึ้น นั่นเป็นหน้าที่ของความเห็นถูกที่จะค่อยๆ ถูกขึ้น

    ระหว่างความเข้าใจกับการไปปฏิบัติ อย่างไหนจะดีกว่ากันคะ

    ผู้ฟัง เข้าใจดีกว่า

    ท่านอาจารย์ เข้าใจดีกว่า เพราะฉะนั้นถ้าฟังบ่อยๆ แล้วเราเข้าใจอย่างนี้ เราไม่ต้องไปปฏิบัติ เพราะขณะนี้สติกำลังปฏิบัติกิจของสติ คือ ระลึกตามที่ได้ฟัง และก็พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจ

    นี่คือหน้าที่ของสติกับปัญญา ซึ่งไม่ใช่เราเลยขณะนี้ ที่กำลังเห็น ก็เป็นจิตชนิดหนึ่งทำหน้าที่เห็น ไม่มีเราจะไปทำหน้าที่นี้ ที่กำลังได้ยินก็เป็นจิตชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นทำหน้าที่ได้ยิน ไม่ใช่เรา ดับไปแล้ว ตัวเราก็ต้องดับไปด้วย ถ้าเราคิดว่าได้ยินเป็นเรา

    ทุกขณะที่เกิด เกิดแล้วดับ เหมือนเวลาทุกขณะที่ผ่านไป เราใช้คำว่า “เวลา” แต่ความจริงเวลาไม่มี มีแต่สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับๆ แล้วเราเรียกว่า “เวลา”

    ผู้ฟัง เวลานั่ง เราก็คิดว่า เวลามีค่า ก็ไหวแว๊บหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นไม่ใช่ของจริง เพราะเวลานี้ไม่มี เราไปทำให้มีขึ้น เท่ากับว่าไม่มีของจริง แล้วไปทำหลอกขึ้นมาให้คิดว่า สิ่งนั้นจริง แต่ของจริงขณะนี้คือเห็น ไม่ได้ทำ ไม่มีใครทำด้วย เป็นอนัตตา ต้องเข้าใจเรื่องอนัตตาค่ะ แต่อย่างสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ความคิดนึกปรุงแต่งขึ้น แล้วก็ไปหลงคิดว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง เพราะปรากฏแล้วหมดไป แต่ปัญญาจริงๆ ต้องรู้ขณะนี้ กำลังเกิดดับขณะนี้ รู้ได้ ค่อยๆ ฟังจนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น

    ผู้ฟัง แบบว่าใครจะปฏิบัติ นั่งสมาธิ ฟังธรรมก็ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องมีคนบอกให้ทำอย่างไร ใช่ไหมคะ สมาธิ แต่พระพุทธเจ้าไม่มีบอกเลย ไม่ได้เคยบอกให้ทำ มีแต่ทรงแสดงธรรมให้เข้าใจค่ะ


    หมายเลข 8173
    24 ส.ค. 2567