สังขารธรรม - สังขารขันธ์ - อภิสังขาร


    ผู้ฟัง คำว่า “ปรมัตถ์” หมายถึง ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    จิต เจตสิก รูปเป็นสังขารธรรม สังขารธรรมหมายถึงสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แต่นิพพานไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นนิพพานจึงเป็นวิสังขารธรรม

    อีกคำหนึ่งคือ “สังขตธรรม” หมายความว่าเกิดแล้วไม่ดับ

    ท่านอาจารย์ คำนี้คนไทยเราใช้น้อยมาก เพราะเหตุว่าเราจะใช้คำว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง” แล้วเราก็ไม่เรียนหรอกว่า “สังขาร” นั้นคืออะไร ก็คิดว่า ร่างกายนี่แหละสังขาร คือ นักเดา ไม่ใช่นักเรียน ก็เลยเข้าใจผิดๆ คิดกันเอาเองว่า “สังขาร” คือ ร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าไม่เที่ยง เวลาพูดถึงสังขาร ก็สังขารแบบนี้ทั้งนั้นเลย

    แต่จริงๆ แล้ว “สังขาร” หมายความถึงสภาพธรรมที่ปรุงแต่ง ส่วนสังขต หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีการปรุงแต่งเกิดแล้ว หรือเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป เพราะฉะนั้นความหมายของ “สังขต” คือ สภาพธรรมที่เกิดแล้วเพราะสังขาร คือ มีปัจจัยปรุงแต่ง

    บุษบง แล้วก็เกิด แล้วก็ดับ

    ท่านอาจารย์

    แน่นอนค่ะ สิ่งใดก็ตามที่เกิดที่จะไม่ดับนั้นไม่มี เวลานี้ทุกอย่างกำลังเกิดดับ แต่ถ้าไม่ใช่เป็นปัญญาที่ได้อบรมมา ไม่มีทางที่จะประจักษ์ แต่ว่าผู้ที่อบรมเจริญปัญญามาแล้วสามารถพิสูจน์ความจริง สิ่งใดก็ตามที่เป็นความจริง แทนที่เราจะต้องศึกษา ๒๐ ปี เข้าห้องทดลองแบบวิทยาศาสตร์ อันนั้นจะไม่ใช่การรู้สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ แต่ในเมื่อขณะนี้สัจธรรม คือ สภาพธรรมเกิดแล้วดับอยู่ตลอดเวลา อย่างทางตากำลังเห็น ไม่ใช่ทางหูที่ได้ยิน

    นี่แสดงให้เห็นแล้วว่า สภาพธรรมจะเกิดพร้อมกัน ๒ อย่างไม่ได้ ทางตาต้องดับ แล้วทางหูก็ต้องดับด้วยในขณะที่ทางตาเห็น

    นี่แสดงให้เห็นว่า มีอวิชชามากมายเหลือเกิน ทั้งๆ ที่สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ก็ไม่รู้อย่างนี้ ต้องอาศัยพระปัญญาคุณที่ทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดง แล้วเราก็เริ่มตั้งแต่ฟังให้เข้าใจเสียก่อนว่า สังขตธรรมหมายความถึงสิ่งที่เกิดแล้วเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง และสิ่งที่เกิดแล้วต้องดับ ถึงจะยังไม่ประจักษ์ก็ต้องรู้ความจริงว่าต้องดับ แล้วก็ค่อยๆ ศึกษาไปจนกว่าจะประจักษ์ได้

    บุษบง นิพพานก็เป็นอสังขตธรรม

    ท่านอาจารย์

    ค่ะ หมายความว่าไม่ได้เกิดเลย เพราะไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ถ้ามีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น จะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป อะไรก็ตามที่เกิดแล้วดับ สิ่งนั้นเป็นสังขารธรรม

    และปรมัตถธรรมมี ๔ คือ มีจิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ นิพพานไม่เกิด ไม่ดับ เมื่อไม่เกิดแล้วจะดับได้อย่างไร เมื่อไม่เกิดก็เพราะไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นนิพพานนั้นเป็นวิสังขารธรรม ส่วนจิต เจตสิก รูปเป็นสังขารธรรม นี่กว้างที่สุด

    และต่อมาก็จะมีคำว่า “สังขารขันธ์” ซึ่งแคบเข้ามาอีกว่าได้แก่ เจตสิก ๕๐ ดวง เพราะว่าเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ ๑ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ ๑ เจตสิกที่เหลือ ๕๐ เป็นสังขารขันธ์

    นี่ความหมายอีกอย่างหนึ่งแล้ว จากสังขารธรรม เป็นสังขารขันธ์ และสังขารในปฏิจจสมุปปาทที่ว่า “อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร” สังขารนั้นหมายความเฉพาะเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิตเท่านั้น เป็นสังขารในปฏิจจสมุปปาท

    ผู้ฟัง สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ คือ การรับรู้

    ท่านอาจารย์

    มิได้ค่ะ เป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิต และจิตอื่นๆ สำหรับปฏิจจสมุปปาท

    บุษบง แล้วทำไมเรียกเจตนาเจตสิกเป็นอภิสังขารละคะ

    ท่านอาจารย์

    เพราะเหตุว่าปรุงแต่งยิ่งกว่าสังขารขันธ์อื่น เพราะเหตุว่าเป็นตัวกรรม เป็นความจงใจ ตั้งใจที่จะกระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม

    บุษบง แล้วต้องเกิดกับจิตทุกดวงใช่ไหมคะ เพราะเจตนาเจตสิกเป็น ๑ ใน ๗ เจตสิกที่จะต้องเกิดกับจิตทุกดวง

    ท่านอาจารย์

    แต่สำหรับปฏิจจสมุปปาทเฉพาะกุศล และอกุศลเท่านั้น ไม่นับวิบาก ไม่นับกิริยา


    หมายเลข 8176
    24 ส.ค. 2567